วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เป่าแคนม้งส่งดวงวิญญาณสู่บรรพชน



เมื่อเอ่ยถึงเครื่องดนตรีของชาวม้ง ชื่อของ "เฆ่ง" ในภาษาม้ง หรือ "แคน" ในภาษาไทยจะต้องมาเป็นอันดับแรกอย่างแน่นอน เพราะเครื่องดนตรีชิ้นนี้ดำรงอยู่คู่กับชนเผ่าม้งมานานหลายชั่วอายุคน และทำหน้าที่สำคัญในการนำทางดวงวิญญาณผู้ล่วงลับให้เดินทางกลับไปหาบรรพชนชาวม้งที่อยู่อีกภพหนึ่ง เสียงแคนที่ถูกบรรเลงทุกบทเพลงล้วนมีความหมายสอดแทรกบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้กับดวงวิญญาณได้รับรู้ เป็นเสมือนเครื่องดนตรีที่สื่อระหว่างโลกมนุษย์และโลกวิญญาณ ดังนั้น หากงานศพใดไม่มีเสียงแคน งานศพนั้นก็จะไม่สมบูรณ์เพราะดวงวิญญาณไม่สามารถไปสู่สุคติได้




แคนม้งแบบดั้งเดิมจะทำด้วยไม้ไผ่ 6 ลำ ขนาดไม่เท่ากัน ประกอบด้วย เสียงตัวโน้ต 6 เสียง คือ โด เร มี ฟา ซอล และลา เสียงโดจะเกิดจากไม้ไผ่ที่มีขนาดสั้นและลำปล้องหนาที่สุดในบรรดาไม้ไผ่ทั้งหก หลังจากนั้น ขนาดของไม้ไผ่จะบางลงและยาวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม้ไผ่ที่ยาวที่สุดจะมีขนาดบางที่สุดเป็นแหล่งกำเนิดเสียงโน้ตลา ซึ่งเป็นโน้ตเสียงสูงที่สุดในบรรดาหกเสียง แต่ละปล้องไม้ไผ่จะเจาะรูหนึ่งรู ด้านในมีลิ้นโลหะเพื่อให้เกิดเสียงต่างๆ ไม้ไผ่ทั้งหกจะถูกยึดรวมกันไว้ด้วย "เต้า" ซึ่งทำจากไม้เนื้อแข็ง (ดูภาพประกอบ) เวลาเล่นจะใช้ปากเป่าที่ปลายเต้าแล้วใช้นิ้วมือเปิดปิดรูบนลำปล้องไม้ไผ่แต่ละลำสลับกันไปมาทำให้เกิดเป็นเสียงเพลง ส่วนแคนสมัยใหม่จะทำจากท่อพีวีซีซึ่งเพิ่มความดังของเสียงได้มากกว่าและมีเสียงเบส (เสียงทุ้ม) เยอะกว่าแคนไม้ไผ่ แต่ความไพเราะและความนิยม จะสู้แบบไม้ไผ่ไม่ได้ ราคาของแคนทั้งสองแบบพอๆ กันประมาณ 3,500 บาทในปัจจุบัน


คนม้งเล่าถึงตำนานเครื่องดนตรีสืบต่อกันมาว่า ในอดีตกาลมีคนม้งอยู่ครอบครัวหนึ่ง มีพี่น้อง 7 คน วันหนึ่งผู้เป็นบิดาสิ้นชีวิตลง และบรรดาพี่น้องทั้ง 7 คนต้องการจัดงานศพเพื่อเป็นเกียรติให้กับผู้เป็นบิดา แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี จึงได้ขอคำปรึกษาจากเทพเจ้า "ซียี" ซึ่งคนม้งมีความเชื่อว่าเป็นเทพเจ้าที่พระเจ้าส่งมาเพื่อช่วยเหลือมวลมนุษย์ในโลกและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดพิธีกรรมที่สำคัญของคนม้ง เทพเจ้าซียีได้แนะนำให้คนหนึ่งไปหาหนังสัตว์มาทำกลองไว้ตีและอีกหกคนไปหาลำไม้ไผ่ที่มีขนาดและความยาวไม่เท่ากันมาคนละอัน เรียงลำดับตามขนาด และอายุของแต่ละคน เมื่อเตรียมพร้อมแล้วให้คนหนึ่งตีกลอง และอีก 6 คน ที่เหลือเป่าลำไม้ไผ่ของตนบรรเลงเป็นเพลงเดียวกัน และเดินวนไปรอบๆ คนที่ตีกลองพร้อมกับมอบบทเพลงต่างๆ ให้



เมื่อเทพเจ้าซียีกล่าวเสร็จ พี่น้องทั้งเจ็ดจึงได้กลับไปจัดงานศพให้บิดาตามที่เทพเจ้าซียีแนะนำ ต่อมามีพี่น้องคนหนึ่งได้ตายจากไป เหลือคนไม่พอที่จะเป่าลำไม้ไผ่ทั้งหก พี่น้องที่เหลือ 6 คน จึงได้ขอคำปรึกษาจากเทพเจ้าซียีอีกครั้ง เทพเจ้าซียีจึงแนะนำให้รวมลำไม้ไผ่ทั้งหกมาเป็นชุดเดียวกัน แล้วให้คนเดียวเป่าเท่านั้น ส่วนคนอื่นให้ทำหน้าที่ถวายเครื่องบูชา ตระเตรียมอาหาร และทำหน้าที่อื่นไป


ต่อมารูปแบบพิธีงานศพดังกล่าวก็ได้รับการถือปฏิบัติมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นประเพณีในการจัดงานศพของคนม้งมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ฉะนั้นในธรรมเนียมม้งจึงห้ามมิให้ฝึกเป่าแคนภายในบ้าน ส่วนใหญ่จะฝึกในที่ห่างไกลจากหมู่บ้านซึ่งมักจะเป็นที่พักพิงตามไร่สวน นอกจากงานศพแล้ว ชาวม้งยังนิยมเป่าแคนในงานรื่นเริง เช่น งานปีใหม่ โดยเนื้อหาของบทเพลงที่เป่าจะมีความหมายแตกต่างออกไป รวมทั้งมีท่าเต้นประกอบการเป่าเพื่อดึงดูดความสนใจของคนดู แตกต่างจากการเป่าในงานศพซึ่งจะย่อตัวและเป่าวนรอบศพเท่านั้น


ชาย เด็กหนุ่มชาวม้งวัย 21 ปีจากบ้านขุนแม่ว้า อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจการเป่าแคนม้งมาตั้งแต่อายุ 14 ปี เล่าถึงจุดเริ่มต้นของความสนใจในเครื่องดนตรีชนิดนี้ให้ฟังว่า


"ผมเห็นคนในหมู่บ้านเขาเล่นกันก็เลยอยากลองบ้าง พ่อไปซื้อแคนมาจากจังหวัดตาก จริงๆ ที่หมู่บ้านของผมก็มีขาย แต่เป็นแบบดั้งเดิมทำจากไม้ไผ่ ผมอยากได้แบบใหม่ที่ทำจากท่อพีวีซี เพราะเสียงของพีวีซี จะดังกว่าและเสียงเบสจะเยอะกว่า ผมเคยเห็นเขามาเล่นโชว์แล้วเสียงดังสนุกดี เลยอยากเล่นบ้าง"


สิ่งแรกที่ต้องเริ่มฝึก คือ รู้จักชื่อเรียกของรูทั้งหกซึ่งให้เสียงแตกต่างกัน หลังจากนั้นต้องฝึกเป่าลม ตามด้วยฝึกโน้ต ซึ่งแต่ละขั้นต้องใช้เวลาฝึกฝนนานหลายเดือนหรืออาจนานนับปีหากผู้ฝึกฝนมีเวลาฝึกน้อย ชายเล่าถึงขั้นตอนยากที่สุดของการเรียนเป่าแคนม้งให้ฟังว่า


"สิ่งที่ยากที่สุด คือ การเรียนภาษาพูดของแคนผ่านการจำ เพราะบทเพลงที่เป่าออกมามีความหมายทุกคำ แต่ประโยคที่ใช้ในเพลงจะแตกต่างจากภาษาพูดของคนม้งในชีวิตประจำวัน คล้ายๆ กับเป็นบทกวีหรือคำสอนซึ่งผู้เรียนต้องจดจำประโยคเหล่านี้ให้ได้ หลังจากนั้นจึงมาเป่าเป็นโน้ตเพลงให้ออกเสียงตรงกับประโยคเหล่านั้นซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากเพราะไม่มีการเขียนบันทึกโน้ตเพลงเหล่านี้ออกเป็นตัวอักษร ต้องใช้การท่องจำ และจดจำเสียงที่ถูกต้องจากครูเพียงอย่างเดียว ผมฝึกอยู่ปีกว่า กว่าจะเล่นได้เป็นเพลง แต่ก็ยังไม่ถูกต้องทั้งหมด นอกจากนี้ ยังต้องฝึกเต้นไปด้วย ผมไปเรียนมา 7 ท่า ต้องควบคุมจังหวะลมให้ดี และท่าเต้นต้องได้ด้วย เวลาซ้อมต้องซ้อมกระโดดด้วยเพื่อให้ลมหายใจคงที่"


ความยากของการฝึกฝนทำให้ผู้เรียนจำนวนมากเกิดความท้อและล้มเลิกไปในที่สุด ชายก็เคยเป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน

"ตอนแรกท้อ จะไม่เล่นแล้ว เพราะต้องเรียนทุกวันตอนกลางคืน หลังจากเสร็จงานในไร่นาหรือกลับจากโรงเรียน ไม่งั้นก็จะลืมได้ง่ายๆ เพราะเป็นเสียงที่เราไม่คุ้นเคย เราไม่ได้ใช้ทุกวัน ไม่มีกระดาษเขียนต้องจำเสียงเอา ถ้าวันรุ่งขึ้นไปโรงเรียนก็ลืมแล้ว ถ้าไม่ได้เรียนต่อเนื่องก็ยาก ผมต้องเข้าไปเรียนในเมือง ช่วงปิดเทอมถึงจะได้กลับบ้านไปเรียนเป่าแคนทำให้ไม่ต่อเนื่อง และคิดอยากเลิกอยู่หลายครั้ง แต่พ่อไม่ให้เลิกเพราะอุตส่าห์ซื้อแคนให้แล้ว"


ผลจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไปและสภาพเศรษฐกิจบีบรัดทำให้คนม้งรุ่นใหม่โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ไม่ค่อยนิยมเป่าแคนเหมือนในอดีต ต่างจากชาวม้งในจังหวัดเชียงรายและน่านซึ่งปัจจุบันยังมีคนนิยมเล่นเยอะ เพราะทำไร่นาฤดูเดียว หรือมีช่วงเวลาว่างจากไร่นาให้ศึกษาดนตรีมากกว่า ปัจจุบันในจังหวัดเชียงรายและน่านมีโรงเรียนเปิดสอนการเป่าแคนม้งโดยเฉพาะ ทำให้เด็กรุ่นใหม่มีโอกาสเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้กันมากขึ้น โดยส่วนใหญ่ผู้ชายจะนิยมเป่าแคนม้งมากกว่าผู้หญิงซึ่งมีภารกิจงานบ้านรัดตัว


ปัจจุบัน การเป่าแคนยังคงมีความสำคัญมากในงานศพของชาวม้ง โดยแต่ละงานต้องมีคนเป่าแคนเก่งระดับชั้นครูมาช่วยกันเป่าอย่างน้อยสามถึงสี่คนสลับกัน เพราะต้องมีเสียงแคนบรรเลงตลอดเช้ากลางวัน และเย็นตลอดระยะเวลางานสามถึงสี่วัน ดังนั้น คนเป่าแคนเก่งๆ จะได้รับเชิญให้เดินทางไปร่วมงานศพตามหมู่บ้านชาวม้งเสมอ เพราะหากไม่มีแคนบรรเลง ดวงวิญญาณที่ล่วงลับของชาวม้งก็ไม่อาจจะเดินทางกลับไปหาบรรพบุรุษที่รออยู่ในอีกภพหนึ่งได้ แคนหรือเฆ่งของชาวม้งจึงเป็นเครื่องดนตรีสำคัญที่ลูกหลานชาวม้งจะต้องร่วมกันสืบทอดต่อไป



--------------------------------------------------------------------------------




เนื้อเพลงเฆ่งในพิธีงานศพโดยทั่วไปจะมีลำดับการเป่าดังนี้

ดี๋ (ntiv) ซึ่งเป็นการโหมโรง
ปลั่วจี๋เฆ่งจี๋ จรั่ว (pluas cim qeej cim nruag) รัวกลองพร้อมกันไปกับเพลงเฆ่ง
ลื๋อฆะจรั่ว (lwm qab nruag) การลอดใต้คานที่แขวนกลองของผู้เป่าเฆ่ง
ซุตัว (xub tuag) เป็นการแนะนำเพลงเฆ่ง
ฆัวซุตัว (quas xub tuag) เป็นการลงท้ายบทแนะนำเพลง
ยซ่าเฆ่งตัว (zaj qeej tuag) เริ่มต้นเนื้อเพลง
ฆัวยซ่าเฆ่งตัว (quas zaj qeej tuag) เป็นการร่ายเนื้อเพลงเพื่อเข้าสู่ปรโลก
เฆ่งตร๋อฆ้าง (qeej rov qaab หรือ raib leev) เป็นขั้นตอนการกลับจากปรโลก
ยซายตร้อยซายเหนง (zais roj zais neev) เป็นขั้นตอนการกลบเกลื่อนเส้นทางกลับจากปรโลก เพื่อมิให้มีวิญญาณติดตามมาได้
เส่าเฆ่ง (xaus qeej) ลงท้ายบทเพลง

ประเภทของบทเพลงที่ใช้ในพิธีงานศพมีดังนี้
เฆ่งตูสา (qeej tu sav) เพลงแรกหลังจากผู้ตายได้สิ้นลมหายใจแล้ว
เฆ่งฆฮัวะเก (qeej qhuab ke) เพลงนำทางดวงวิญญาณไปสู่ปรโลกหรือแดนแห่งบรรพบุรุษ
เฆ่ง นเจเหน่ง (qeej nce neeg) เพลงเคลื่อนย้ายศพขึ้นหิ้ง (แคร่ลอย)
เฆ่ง เฮลอเด๋อ (qeej hlawv ntawv) เพลงเผากระดาษเงินกระดาษทองให้ผู้ตาย
เฆ่งเสอเก๋ (qeej sawv kev) เพลงเคลื่อนย้ายศพออกจากบ้าน นอกจากจะใช้ในพิธีงานศพแล้ว ยังมีการใช้เฆ่ง เพื่อความบันเทิงในงานรื่นเริงต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะการเต้นรำเฆ่งในงานฉลองเทศกาลปีใหม่ม้ง ซึ่งบทเพลงเฆ่ง เพื่อความบรรเทิงจะมีลำดับการเป่าดังนี้
ดี๋ (ntiv) โหมโรง
ซุ (xub) แนะนำ
นู่ นตรื่อ (nuj nrws) เนื้อเรื่อง
ฆัวนู่ นตรื่อ (quas nuj nrws) ทวนเนื้อเรื่อง
ปลั่ว (pluas) สรุป
เส่า (xaus) ลงท้าย

ที่มา http://www.hilltribe.org/thai/hmong/hmong-music.php
http://www.salweennews.org :

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น