Hadชาวเหมียว (หรือชาวแม้ว) มีถิ่นฐานอยู่ในเมืองและมณฑลต่างๆในประเทศจีนหลายแห่ง เช่น กุ้ยโจว(贵州Guìzhōu) หูหนาน (湖南Húnán) ยูนนาน (云南Yúnnán) ซื่อชวน (四川 Sìchuān) กว่างซี(广西Guǎnɡxī) หูเป่ย(湖北Húběi) ห่ายหนาน(海南Hǎinán) ถิ่นที่มีชาวเหมียวรวมตัวกันอยู่มากที่สุดคือ บริเวณรอยต่อทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเฉียนตงกับเมืองเซียงเอ้อ โดยเฉพาะที่เมืองเซียงซี(湘西 Xiānɡxī) นอกจากนี้ยังมีชาวเหมียวกลุ่มเล็กๆกระจัดกระจายอยู่หุบเขาเหมียวในมณฑลกว่างซี บริเวณรอยต่อของเมืองเตียนเฉียนกุ้ย(滇黔桂Diānqiánɡuì) กับชวนเฉียนเตียน(川黔滇Chuānqiándiān) จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมียว มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 8,940,116 คน พูดภาษาเหมียว จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาภาษาเหมียว-เหยา(แม้ว-เย้า) แขนงภาษาเหมียวตั้งแต่อดีตชาวเหมียวอพยพย้ายถิ่นที่อยู่หลายต่อหลายครั้ง ชุมชนชาวเหมียวจึงกระจัดการจายไปมาก เมื่อแยกกันอยู่เป็นเวลานาน ทำให้ภาษาที่ใช้มีความแตกต่างกัน ปัจจุบันภาษาเหมียวแบ่งได้ 3 สำเนียงคือ สำเนียงเซียงซีตะวันออก(湘西 Xiānɡxī) สำเนียงเฉียนตงกลาง (黔东Qiándōnɡ) และสำเนียงชวนเฉียนเตียนตะวันตก(川黔滇Chuānqiándiān) สำเนียงชวนเฉียนเตียนตะวันตกนี้ยังแบ่งออกได้อีก 7 สำเนียงย่อย ชาวเหมียวที่อาศัยอยู่ในเขตชุมชนกลุ่มน้อยอื่น บางที่พูดภาษาของชนกลุ่มที่ใหญ่กว่าเช่น ภาษาจีน ภาษาต้ง ภาษาจ้วง มีการขุดค้นทางโบราณคดีที่เป็นชุมชนโบราณของเผ่าเหมียว พบศิลาจารึกที่คาดว่าจะเป็นอักษรของชาวเหมียว แต่ไม่มีการสืบทอดและสูญหายไป กระทั่งปี 1956 รัฐบาลจีนได้ประดิษฐ์อักษรสำหรับชนเผ่าเหมียวขึ้นโดยใช้อักษรลาติน และใช้อย่างกว้างขวางจนปัจจุบันประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชนชาวเหมียวมีมานานหลายพันปี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สืบย้อนไปเมื่อสี่พันปีก่อน ในบันทึกเอกสารโบราณมีการกล่าวถึงชนเผ่ากลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำฮวงโหและแม่น้ำแยงซีเกียง รวมเรียกชนเผ่าเหล่านี้ว่า “หนานหมาน” (南蛮Nánmán) ในจำนวนนี้มีชนชาวเหมียวรวมอยู่ด้วย นักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่าชื่อ “ชือโหยว” (蚩尤 Chīyóu) ที่ปรากฏในนิทานปรัมปราโบราณที่ชาวเหมียวให้ความเคารพบูชานั้น มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบรรพบุรุษของชาวเหมียว บางท่านให้ความเห็นว่าเหมียวสามฝ่ายที่กล่าวถึงในสมัยโบราณเป็นบรรพบุรุษของชาวเหมียวในปัจจุบัน บ้างเชื่อว่าชาวเหมียวในปัจจุบันสืบเชื้อสายมาจากชาว “เหมา” (髳 Máo) ในสมัยอินโจว(殷周 Yīnzhōu) อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดเกี่ยวกับกำเนิดที่มาของชนชาวเหมียว แต่หลักฐานที่เพียงพอที่จะสรุปได้ในขณะนี้ก็คือ เมื่อสองพันกว่าปีก่อน ในสมัยฉินฮั่น (秦汉时代 Qín Hàn shídài) ชาวเหมียวตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนขึ้นแล้วในบริเวณพื้นที่ที่เป็นเมืองเซียงซี (湘西 Xiānɡxī) และเมืองเฉียนตง (黔东Qiándōnɡ) ในปัจจุบัน ในอดีตเรียกชื่อว่าบริเวณ อู่ซี (五溪 Wǔxī) ในบริเวณดังกล่าวมีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่รวมกันมากมาย รวมเรียกชื่อว่า อู่ซีหมาน(五溪蛮 Wǔxīmán) หรืออู่หลิงหมาน(武陵蛮 Wǔlínɡ mán) จากนั้นชนกลุ่มน้อยเหล่านี้กระจัดกระจายอพยพไปทางตะวันตก และตั้งถิ่นฐานมาจนปัจจุบันด้านเศรษฐกิจและสังคมของชาวเหมียว สังคมชาวเหมียวเป็นแบบสังคมบุพกาลมาช้านาน จนถึงสมัยถังและซ่ง เริ่มเข้าสู่การมีชนชั้นทางสังคม และด้วยอิทธิพลทางเศรษฐกิจของระบบสังคมศักดินาของชาวฮั่น ผลักดันให้เกิดระบบเศรษฐกิจสังคมแบบเจ้าศักดินาขึ้นในชุมชนชาวเหมียว ในเวลานี้การเกษตรและงานหัตถกรรมพัฒนาขึ้นมาก เกิดมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันขึ้น เริ่มมีการกำหนดเวลาที่แน่นอนที่ชาวเหมียวและชาวฮั่นจะมาแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน ในรูปแบบของ “ตลาดนัด”ในสมัยหยวน ระบบสังคมแบบเจ้าศักดินาพัฒนาและชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จนถึงสมัยหมิงสังคมชาวเหมียวเป็นแบบเจ้าศักดินาอย่างชัดเจนถึงจุดสูงสุด จากนั้นก็เริ่มเข้าสู่การล่มสลาย ต่อมาระบบการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเริ่มก่อตัวขึ้น ในสมัยหมิงเริ่มดำเนินนโยบายการรวบรวมที่ดินกลับคืน โดยดำเนินการในเขตมณฑลหูหนาน (湖南Húnán) ซึ่งครอบคลุมไปถึงถิ่นที่อยู่ของชุมชนชาวเหมียวด้วย ทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินพัฒนาไปอย่างราบรื่น การรวบรวมที่ดินกลับคืนของจักรพรรดิคังซีและหย่งเจิ้งในสมัยราชวงศ์ชิงนำมาซึ่งการล่มสลายของระบบเจ้าศักดินา และก่อเกิดระบบการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินขึ้น หลังสงครามฝิ่นในปี 1840 ระบบสังคมเศรษฐกิจแบบเจ้ากรรมสิทธิ์ที่ดินยังคงเดินหน้าพัฒนาต่อไป จนปลายศตวรรษที่ 19 อำนาจของระบบจักรวรรดินิยมแผ่ขยายเข้าสู่ชุมชนชาวเหมียว ระบบเศรษฐกิจสังคมของชาวเหมียวจึงเปลี่ยนไปเป็นแบบกึ่งอาณานิคมกึ่งศักดินาหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระบบสังคมชาวเหมียวเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และพัฒนาเข้าสู่ระบบสังคมนิยมในเวลาต่อมา ก่อเกิดนโยบายการปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยขึ้น นับแต่ปี 1951 เป็นต้นมา เริ่มมีการก่อตั้งเขตปกครองตนเองและอำเภอปกครองตนเองเผ่าเหมียวขึ้นหลายแห่ง จนปัจจุบันชาวเหมียวมีสิทธิและมีส่วนร่วมในการปกครอง ตลอดจนพัฒนาระบบสังคมเศรษฐกิจของตนให้เจริญรุดหน้าทัดเทียมกับชนชาวจีนทั่วไปภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล และการร่วมแรงร่วมใจของชาวเหมียว ทำให้เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม อนามัยของชาวเหมียวพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นมาก มีการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นมากมาย จนเกิดเป็นเมืองอุตสาหกรรมขึ้นอย่างเมืองข่ายหลี่ (凯里 Kǎilǐ) จี๋โส่ว (吉首Jíshǒu) ส่วนด้านการเกษตรมีการใช้เครื่องจักรกลมากขึ้น ทำให้ผลผลิตที่ได้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ชุมชนชาวเหมียวไม่ว่าใกล้ไกลเพียงใด มีการพัฒนาระบบไฟฟ้า และการจราจรเข้าถึงทุกแห่งหน นำความเจริญเข้าสู่ชุมชนอย่างถ้วนทั่ว ที่สำคัญมีการสร้างทางรถไฟเข้าไปถึงชุมชนชาวเหมียว เช่น สายกุ้ยคุน (贵昆Guìkūn) เซียงเฉียน(湘黔Xiānɡqián) จือหลิ่ว(枝柳Zhīliǔ) เฉียนกุ้ย(黔桂Qiánɡuì) เป็นต้น เป็นเส้นทางเชื่อมต่อความเจริญจากภายนอกเข้าสู่ชุมชนชาวเหมียว ในขณะเดียวกันก็เป็นหนทางที่ชาวเหมียวมีโอกาสติดต่อกับชุมชนภายนอกอย่างสะดวกสบาย ชาวเหมียวให้ความสำคัญกับการศึกษา นอกจากจะก่อตั้งโรงเรียนตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมปลายแล้ว ยังก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นเพื่อผลิตบัณฑิตชาวเหมียวให้มีความรู้ด้านวิชาชีพครู แพทย์ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ศิลปะ เทคโนโลยี เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชน นอกจากนี้มีการก่อตั้งโรงพยาบาล สถานีอนามัยเพื่อดูแลด้านสุขภาพและรักษาโรค โรดระบาดร้ายแรงต่างๆ ในอดีตหมดไป การประกอบอาชีพของชาวเหมียวหลากหลายขึ้นไม่ว่าจะเป็น การเกษตร ป่าไม้ ประมง เลี้ยงสัตว์ ทำให้ครอบครัวและชุมชนมีรายได้ ส่งผลให้ชาวเหมียวในปัจจุบันมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้านศิลปวัฒนธรรม ด้วยอารยธรรมที่ยาวนาน ก่อเกิดวัฒนธรรมที่งดงามและหลากหลายสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่น วรรณกรรมพื้นบ้านที่สำคัญได้แก่ เพลงกลอน ตำนาน นิทานพื้นบ้าน เล่าสืบต่อเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะตกทอดจนถึงปัจจุบัน ฉันทลักษณ์กลอนเพลงชาวเหมียวเป็นแบบกลอนห้า กลอนเจ็ด และกลอนอิสระ ส่วนใหญ่เน้นเรื่องของจังหวะ แต่ไม่เน้นการสัมผัส ท่วงทำนองเพลงเรียบง่ายไม่ซับซ้อน จังหวะก็ไม่เข้มงวดมากนัก ความสั้นยาวของเพลงไม่แน่นอน เพลงของชาวเหมียวแบ่งได้เป็น เพลงโบราณ เพลงธรรมชาติ เพลงมนตรา เพลงงาน เพลงวนเวียน เพลงรัก และเพลงเด็ก เช่น เพลงชื่อ 《老人开天地》Lǎorén kāi tiāndì “ผู้เฒ่าเบิกพิภพ” เพลงชื่อ《九十九个太阳和九十九个月亮》Jiǔ shí jiǔ ɡè tàiyánɡ hé jiǔ shí jiǔ ɡè yuèliɑnɡ “เก้าสิบเก้าตะวันกับเก้าสิบเก้าจันทรา” บทเพลงเหล่านี้ไม่เพียงแต่สะท้อนสภาพชีวิตของชาวเหมียวที่ต้องต่อสู้และผูกพันอยู่กับธรรมชาติ แต่ยังเป็นหลักฐานในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และเรื่องราวของชนชาวเหมียวได้เป็นอย่างดีชาวเหมียวรักการร้องรำทำเพลงเป็นชีวิตจิตใจ บทเพลง ดนตรี และละครเหมียวมีวิวัฒนาการและสืบทอดกันมาช้านาน ทำนองเพลงเกร็ดต่างๆ ถูกนำมาแต่งเป็นเพลงประกอบระบำที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่มากมาย เครื่องดนตรีเหมียวหลัก ๆ เป็นจำพวกเครื่องตีและเครื่องสาย มีกลองไม้ กลองหนัง และกลองโลหะ นอกจากนี้ยังมีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า เช่น ขลุ่ย ปี่น้ำเต้า และปี่หลายขนาดที่ชาวเหมียวประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ มีการเป่าเพลงใบไม้ และพิณปากเป่า ระบำเหมียวที่สำคัญมีระบำขลุ่ยน้ำเต้า ระบำเก้าอี้ ระบำลิงตีกลอง เป็นต้น เสียงดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวเหมียวคือปี่น้ำเต้า ทั้งระบำงดงามรื่นเริง ดนตรีไพเราะมีเอกลักษณ์ของชนเผ่า ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนทั่วไปงานหัตถกรรมชาวเหมียวก็เป็นศิลปะประจำเผ่าอีกอย่างที่มีชื่อเสียงไปทั่ว เช่น งานปักผ้า ทอผ้า ย้อมผ้า ตัดกระดาษและเครื่องประดับต่างๆ สืบทอดกันมานานหลายชั่วอายุคน จนถึงยุคปลดปล่อย มีพัฒนาการถึงขั้นสามารถย้อมลวดลายรูปภาพได้แล้ว ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของชาวเหมียวเป็นสินค้าส่งออกทั้งในและต่างประเทศสร้างรายได้อย่างงดงาม งานหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นอีกอย่างของชาวเหมียวคือการทำเครื่องประดับเงิน ชาวเหมียวนิยมประดับประดาเครื่องเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายและตามร่างกายด้วยเครื่องเงิน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับศีรษะเงิน สร้อยพวงระย้า กำไล ชุดเสื้อผ้าเงิน เป็นต้น ล้วนมีแบบและลวดลายสวยงามละลานตาภูมิปัญญาด้านการแพทย์ของชาวเหมียวที่สั่งสมมาแต่บรรพบุรุษรุ่นต่อรุ่นได้รับการยอมรับจากวงการแพทย์แผนปัจจุบัน ตำราการแพทย์ของชาวเหมียวแบ่งโรคในร่างกายมนุษย์เป็น 36 ชนิด โรคภายนอก 72 โรค มีวิธีรักษา 20 วิธี ตำราแพทย์แผนเหมียวที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เช่น ตำราชื่อ《苗医验方》Miáo yīyàn fānɡ “ตำราตรวจรักษาแผนเหมียว” เป็นตำราการแพทย์ที่เขียนโดย สือฉี่กุ้ย (石启贵 Shí Qǐɡuì) ตำราชื่อ《苗族药物集》Miáo Zú yàowù jí “รวมตำรายาแผนเหมียว” ของผู้เขียน ลู่เคอหมิ่น (陆科闵 Lù Kēmǐn) ปลายศตวรรษที่ 19 วิวัฒนาการทางการแพทย์แผนเหมียวพัฒนาถึงขั้นสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้แล้ว นอกจากนี้ยังมีตำรายารักษาอาการกระดูกหัก พิษงู พิษธนู การรักษาบาดแผลด้วยสมุนไพร ผลการรักษาหายขาดและรวดเร็ว เป็นที่ยอมรับไปทั่วด้านขนบธรรมเนียมของชาวเหมียว เอกลักษณ์โดดเด่นของชาวเหมียวที่ไม่ว่าผู้ใดพบเห็นก็รู้ได้ทันทีว่ามิใช่ชนเผ่าใดไหนเลย คือ เครื่องแต่งกาย ชายชาวเหมียวสวมเสื้อผ้าป่านปักลวยลายงดงาม มีผ้าคลุมบ่าที่เป็นผ้าสักหลาดขนแกะปักลาย นอกจากนี้ในหลายๆพื้นที่การแต่งกายอาจแตกต่างกันไปบ้าง บ้างสวมเสื้อผ่าอกลำตัวสั้น สวมกางเกงขายาว รัดเอวด้วยผ้าหรือเข็มขัดขนาดใหญ่ พันศีรษะด้วยผ้าสีน้ำเงิน ในฤดูหนาวพันรอบขาด้วยผ้าหรือเชือกรัดแข้ง ในสมัยโบราณ ชายชาวเหมียวไว้ผมยาว เกล้าเป็นมวยไว้กลางศีรษะเสียบด้วยปิ่นไม้หรือเหล็ก ใส่ตุ้มหูทั้งสองข้าง สวมกำไลข้อมือ บางที่ปล่อยยาวลงมาแล้วถักเปีย แต่นับตั้งแต่ปลายสมัยชิงเป็นต้นมาชายชาวเหมียวไม่เกล้าผมอย่างสมัยก่อน แต่นิยมปล่อยยาวลงมาแล้วถักเปียทั้งสองข้างมากกว่า ส่วนการแต่งกายของสตรีเหมียวในแต่ละท้องที่แตกต่างกันมากเป็นสิบๆ แบบ แต่ส่วนใหญ่สวมเสื้อผ่าอก ปกใหญ่ ลำตัวสั้น สวมกระโปรงจีบรอบ บ้างยาวกรอมส้น บ้างสั้นถึงโคนต้นขา บางท้องที่สวมกางเกงขายาวและ กว้าง และปักลวดลายดอกไม้ขนาดใหญ่ โพกศีรษะด้วยผ้าลายตาราง สวมตุ้มหู ห่วงคล้องคอ และกำไลเงิน เครื่องประดับศีรษะของสตรีชาวเหมียวมีรูปแบบหลากหลายมาก บ้างมวยผมทรงกลม ทรงแหลม ไว้กลางศีรษะแล้วประดับประดาด้วยเครื่องประดับเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเหมียวที่เฉียนตง เฉียนหนาน ครอบศีรษะด้วยหมวกเงิน มียอดปลายแปลมงอโค้งขึ้นด้านบนคล้ายกับเขาวัว ชุดเสื้อผ้าก็ ประดับประดาด้วยเครื่องเงินจนเต็มตัวเรียกกันว่า ชุดเงิน (银衣yínyī) นับเป็นเครื่องแต่งกายที่ทรงคุณค่ายิ่งนักเรื่องอาหารการกิน ชาวเหมียวที่เมืองเฉียนตง(黔东Qiándōnɡ) เฉียนหนาน (黔南 Qiánnán) เซียงซี (湘西Xiānɡxī) ห่ายหนาน (海南 Hǎinán) และที่กวางสี (广西Guǎnɡxī) กินข้าวเป็นอาหารหลัก นอกจากนี้ยังมีข้าวโพดและมันเป็นอาหารเสริม ส่วนชาวเหมียวในบริเวณเมืองเฉียนซี (黔西Qiánxī) เฉียนเป่ย (黔北Qiánběi) ชวนหนาน (川南Chuānnán) เตียนตง (滇东Diāndōnɡ) เตียนเป่ย(滇北 Diānběi) กินข้าวโพด มันฝรั่ง ข้าวโอ๊ตเป็นอาหารหลัก อาหารพิเศษของชาวเหมียวคือผักดอง วิธีทำคือเอาข้าวเหนียวคลุกกับผักหมักไว้ในโอ่งปิดฝาสนิท เก็บไว้ประมาณ 2 เดือนก็นำออกมาประกอบอาหารได้ ชาวเหมียวชอบการดื่มสุราสังสรรค์เฮฮา ไม่ว่าจะเป็นเทศกาล งานพิธีการใดๆ หรือมีแขกมาเยือน ชาวเหมียวจะใช้สุราต้อนรับแขกด้วยความยินดีสถาปัตยกรรม สิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือนของชาวเหมียวแตกต่างกันในแต่ละท้องที่ ชาวเหมียวที่เมืองเฉียนตงและเฉียนหนานก่อสร้างบ้านด้วยไม้ บ้างสร้างเป็นบ้านชั้นเดียว บ้างสร้างเป็นบ้านสองชั้น หรือใต้ถุนสูง หลังคาเป็นแบบจั่วสองหน้า บ้างมุงด้วยกระเบื้อง บ้างมุงด้วยหญ้ามัดเป็นตับ บนหลังคาเป็นที่ตากพืชและอาหารแห้ง ใต้ถุนเป็นที่เก็บสิ่งของต่างๆ และใช้เป็นคอกสัตว์ ในสมัยก่อนที่ประชาชนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของตนเอง ชาวเหมียวสร้างบ้านแบบมีรั้วบ้าน ก่อด้วยอิฐหรือหิน ชาวเหมียวที่บริเวณเมืองเหวินซานของมณฑลยูนนานใช้ไม้ไผ่สานถี่ ๆ แล้วฉาบด้วยโคลนก่อเป็นกำแพงรั้ว ตัวฝาบ้านก็ใช้วิธีเดียวกัน แล้วมุงหลังคาด้วยหญ้าแห้งมัดเป็นตับ แบ่งเป็นสองห้อง ใช้เป็นที่พักอาศัยและคอกสัตว์ ส่วนชาวเหมียวที่เมืองจาวทง (昭通Zhāo tōnɡ) สร้างบ้านโดยใช้ท่อนไม้ขัดกันเป็นกระโจม แล้วมุงด้วยหญ้าแห้ง กำแพงทำด้วยไม้สานแล้วฉาบด้วยโคลน ชาวเหมียวที่เกาะ ห่ายหนานสร้างบ้านลักษณะเป็นห้องแถวทรงยาว แบ่งเป็นสามห้อง มีชายคาบ้านยาวใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจวัฒนธรรมการแต่งงานของชาวเหมียวยึดถือการมีสามีภรรยาเดียว การสืบทอดมรดกยึดถือสายเลือดสายตรงเพศชายเป็นหลัก ในขณะเดียวกันเพศหญิงก็มีสิทธิและสถานภาพในครอบครัวเช่นกัน ลูกคนเล็กมีหน้าที่เลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่า ชาวเหมียวตั้งชื่อลูกชายโดยใช้คำศัพท์ที่เป็นชื่อพ่อเป็นคำหลังของชื่อลูกคล้องต่อกันเป็นลูกโซ่ เป็นชื่อที่ระบุการสืบเชื้อสาย แต่การเรียกขานกันตามปกติจะเรียกเฉพาะชื่อเจ้าตัวเท่านั้น นอกจากนี้ยังรับอิทธิพลของชาวฮั่นในการตั้งชื่อ โดยกำหนดคำที่ระบุถึงคนในรุ่นเดียวกัน จะใช้คำเดียวกันเป็นส่วนประกอบของชื่อในงานเทศกาลรื่นเริงต่างๆ หนุ่มสาวชาวเหมียวมีโอกาสพบปะและเลือกคู่รักคู่ครองของตน แต่บางท้องที่ก็มีการแต่งงานแบบคลุมถุงชนที่พ่อแม่เป็นฝ่ายเลือกคู่ครองให้ โดยผู้ใหญ่จะจับคู่ตามที่เห็นว่าเหมาะสมกันทั้งฐานะ ครอบครัว วงศ์ตระกูล หลังแต่งงานเจ้าสาวชาวเหมียวจะไม่ย้ายไปอยู่บ้านเจ้าบ่าว โดยเฉพาะที่เมืองเฉียนซียังคงรักษาขนบธรรมเนียมแบบดั้งเดิมนี้อยู่ ในบางท้องที่ยังนิยมขนบธรรมเนียมการแต่งงานแบบ “สองครอบครัวแลกเจ้าสาว” หรือ “การแต่งงานกับทั้งพี่สาวน้องสาว” กันอยู่ด้านศาสนาความเชื่อและเทศกาลสำคัญ ชาวเหมียวนับถือผีและวิญญาณของหมื่นล้านสรรพสิ่ง บูชาวิญญาณบรรพบุรุษ นับถือธรรมชาติ เชื่อว่าทุกสรรพสิ่งมีวิญญาณแรงกล้าที่มิอาจล่วงเกินได้ ชาวเหมียวจะอธิษฐานอ้อนวอนขอพร รักษาโรค ขอบุตร ขอโชคลาภ การคุ้มครอง และปกปักรักษาจากเทพทั้งมวล การทำพิธีบูชาเทพเจ้าต้องมีหมอผีประจำเผ่าทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า พิธีกรรมบูชาเทพเจ้า ผีและวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งถือเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ พิธีไหว้ผี พิธีไล่ผี พิธีกินวัว พิธีกินหมู พิธีกินผี พิธีล้มวัว เป็นต้นล้วนเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่สำคัญของชาวเหมียว นอกจากนี้สิ่งของตามธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ก้อนหินรูปร่างแปลกประหลาด หรือที่มีขนาดใหญ่โต หรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเช่น บ่อน้ำ เก้าอี้ ล้วนต้องบูชาวิญญาณของสิ่งเหล่านี้ทั้งสิ้น สิ่งของที่ใช้บูชา ได้แก่ อาหาร และเครื่องดื่มต่างๆ เช่น เหล้า เนื้อ ไก่ เป็ด ปลา ข้าวเหนียว เป็นต้น หลังจากการเผยแผ่ศาสนาคริสต์เข้ามา มีชาวเหมียวบางส่วนหันมานับถือพระเยซูเทศกาลสำคัญของชาวเหมียวมีมากมาย ชาวเหมียวในแต่ละท้องที่มีเทศกาลแตกต่างกันไปบ้าง ชาวเหมียวที่เฉียนตง เฉียนหนาน กว่างซี เฉลิมฉลองวันปีใหม่เหมียวในวันที่ 1 เดือน 11 ตรงกับวันกระต่ายและวันวัวตามปฏิทินเหมียว มีกิจกรรมรื่นเริงมากมาย เช่น แข่งม้า ล่อวัว ระบำเพลงขลุ่ยน้ำเต้า ระบำกลอง และการเยี่ยมเยือนเพื่อนบ้าน ส่วนชาวเหมียวที่เมืองกุ้ยหยางจะมารวมตัวกันที่บริเวณใกล้น้ำพุใจกลางเมืองกุ้ยหยางในทุกๆ วันที่ 8 เดือน 4 เพื่อจัดงานรื่นเริง เต้นรำ พบปะสังสรรค์ เพื่อรำลึกถึงวีรบุรุษในตำนานที่ชื่อ “ย่าหนู่” (亚努Yà nǔ) นอกจากนี้ยังมีเทศกาลสำคัญที่ชาวเหมียวทั่วทุกพื้นที่จัดงานรื่นเริงถ้วนหน้า เช่น เทศกาลเรือมังกร เทศกาลภูเขาดอกไม้ (ต้นเดือน 5 ) เทศกาลกินอาหารใหม่ (เดือน 6 เดือน 7 หลังการเก็บเกี่ยวข้าวใหม่) นอกจากนี้ยังมีเทศกาลที่รับอิทธิพลมาจากชาวฮั่น เช่น เทศกาลตรุษจีน เทศกาลเชงเม้ง เป็นต้น ชาวเหมียวที่ยูนนานยังมีเทศกาลสำคัญที่สืบทอดกันมาจนปัจจุบันคือเทศกาลเหยียบดอกไม้ ถือเป็นเทศกาลรื่นเริงที่สำคัญของชาวเหมียว จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ทุกๆปี
เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เมชฌ สอดส่องกฤษ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น