วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ซ่งจู่ยิง (Song Zuying)นักร้องชาวม้งที่โด่งดังไปทั่วโลก


Song Zuying - Mengjiang Girl 孟姜女
ซ่งจู่ยิง (Song Zuying) 宋祖英ดอกไม้พงไพร ชูช่อสง่างามในวงการดนตรีจีน
ดอกไม้ ไม่ว่าจะบานชูช่อ ณ แห่งหนใด มันคงยังรักษาความงามของมันแต่ระหว่างดอกไม้ในสวนกับดอกไม้ในป่าดงพงไพรนั้น ถึงแม้ล้วนจะเป็นดอกไม้เหมือนกัน แต่จุดแตกต่างระหว่างดอกไม้ทั้งสองคือ ดอกไม้ในป่าดงพงไพรเติบใหญ่ขึ้นตามความเป็นจริงแห่งธรรมชาติ มีความแข็งแกร่งในท่ามกลางความอ่อนช้อยสวยงาม สำหรับดอกไม้ในสวนเติบใหญ่จากการดูแลของคน หรืออาจถึงขั้นเจือปนสิ่งแปลกปลอมเพื่อความงามที่อาจผิดแผกธรรมชาติ
ซ่งจู่ยิง 宋祖英นักร้องเสียงโซปราโน (Soprano) ชื่อนี้อาจไม่เป็นที่คุ้นหูสำหรับนักฟังเพลงทั่ว ๆ ไปนัก นอกจากคนที่ติดตามวงการศิลปะการแสดงและการขับร้องของจีนอย่างใกล้ชิด สำตัวผมเองก็ต้องยอมรับว่ารู้จัก โดยบังเอิญ อันเนื่องจากรับชมทีวีหูหนาน 河南(Hunan TV) ในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา พอดีทางสถานีนำเอาเทปบันทึกการแสดงสดของซ่งจู่ยิงที่แสดงที่ซิดนีย์โอเปร่าเฮาส์(Sydney Opera House) ประเทศออสเตรเลีย อันเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีในความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศจีนกับประเทศออสเตรเลีย (ของไทยครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีนปีนี้เอง) การได้ชมการขับร้องเพลงของเธอแวบแรกต้องบอกว่า” โดนเต็มๆ”ด้วยน้ำเสียงที่ใส ๆ ซึ้ง ๆ เสียงสูงสามารถไต่ขึ้นได้อย่างราบรื่น อีกทั้งหน้าตาที่สวยแตกต่างจากสาวจีนแบบหมวย ๆ ทั่วไป เนื่องจากเธอเป็นชนเผ่าแม้ว
ซ่งจู่ยิงเหมือนกับดอกไม้ป่าช่องามที่เกิดในหมู่บ้านชาวแม้วที่หมู่บ้านเซียงซี 湘西 อำเภอกู่จ้าง 古丈县 มณฑลหูหนาน 河南省หมู่บ้านเซียงซีเป็นหมู่บ้านยากจนที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ชีวิตในวัยเด็กของเธอจึงเรียบง่ายเหมือนชาวเขาทั่ว ๆ ไป เธอฝึกร้องเพลงตั้งแต่เด็กตามแม่ที่ร้องเพลงพื้นบ้านของชาวแม้ว โดยไม่ได้รับการฝึกฝนด้านการร้องเพลงที่ถูกต้องตามระบบจนเมื่อเธออายุ 15 แล้ว ประกายแววความสามารถของเธอเริ่มฉายเมื่อตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น เมื่ออาจารย์เถียน田老师 กับอาจารย์หลอ罗老师จากคณะการแสดงประจำอำเภอมารับสมัครนักร้องเข้าคณะ เธอได้รับการคัดเลือกจากผู้สมัครทั้งหมดยี่สิบกว่าคน เธอเข้าร่วมคณะได้สี่ปีก็สอบเข้า Chinese Nationality University ในคณะการขับร้องและเต้นรำ(Music and Dance Department) ในสาขาการขับร้องเพลงพื้นบ้าน (folkvocal) ในจุดนี้เองที่เธอได้รับการฝึกฝนด้านการขับร้องอย่างถูกต้องเป็นระบบ ภายใต้การดูแลของอาจารย์โจวเปิ่นชิ่ง 周本庆 ทำให้มาตรฐานการขับร้องของเธอสูงขึ้นมาก หลังจากนั้นเธอก็ออกล่ารางวัล เริ่มไต่จากการได้ที่ 1 ในระดับมลฑลจนถึงระดับประเทศ ปี 1989 เธอปรากฏตัวในสถานีโทรทัศน์ CCTV ครั้งแรก เนื่องในโอกาสรำลึกเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม五四运动 (เป็น เหตุการณ์เกิดในปี ค.ศ.1919 ที่เหล่าปัญญาชนและประชาชนผู้รักชาติลุกขึ้นมาต่อต้านจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นที่เข้ามารุกรานจีนพร้อมกับทำสนธิสัญญาที่เอาเปรียบคนจีน ขณะเดียวกันก็ต้องการโค่นล้มระบอบการปกครองที่เน่าเฟะของรัฐบาลจีนในสมัยนั้น)

ในปี 1991 เธอได้ปรากฏตัวทาง CCTV อีกครั้งเนื่องในโอกาสวันตรุษจีน ซึ่งในขณะนั้นเธอได้จบการศึกษาจาก Chinese Nationality University และ ได้ศึกษาเพิ่มเติมจากอาจารย์จินเถ่หลิน 金铁林 เพื่อยกระดับความสา-มารถขึ้นอีกระดับ การปรากฏตัวใน CCTV คราวนี้ ทำให้เธอเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเล (CCTV เป็นเครือข่ายโทรทัศน์ของรัฐบาลจีนที่ถ่ายทอดผ่านดาวเทียมสามารถรับชมได้ทั่วโลก) จากจุดนี้เองซ่งจู่ยิงจึงเป็นนักร้องที่ทาง CCTV ขาดไม่ได้ในการออกอากาศในเทศกาลตรุษจีนในปีต่อ ๆ มา
การเดินทางสู่อนาคตของซ่งจู่ยิงไม่ได้แตกต่างจากชาวบ้านยากจนทั่วๆไปเธอเสียคุณพ่อเมื่อยังเด็ก เนื่องจากความยากจนที่ไม่มีเงินรักษาคุณพ่อที่ป่วยเป็นวัณโรค สำหรับน้องชายเองก็เป็นใบ้เนื่องจากกินยาผิด เมื่อเธอจบการศึกษาแล้ว เธอก็เข้ารับราชการในกองทัพปลดแอกประชาชนจีน โดยสังกัดกองทัพเรือ ซึ่งคงเป็นวิถีของคนจนทั่ว ๆ ไปที่ยึดอาชีพข้าราชการเพื่อความมั่นคงไว้ก่อน ซึ่งเป็นแนวคิดที่คนในวัยประมาณ 40 หรือรุ่นที่เกิด ในยุคหลังปฏิวัติวัฒนธรรม 文化大革命 ในช่วงที่ประเทศจีนยังไม่เปิดประเทศมักเดินตามแนวนี้ (เพื่อนชาวปักกิ่งผมเองก็เหมือนกัน รับราชการในหน่วยงานการค้าของรัฐ มีอยู่ช่วงหนึ่งมาประจำที่กรุงเทพฯเพื่อวิ่งเต้นประมูลขายกระดาษห่อบุหรี่ให้กับโรงงานยาสูบ เพื่อนมักจะบ่นเสมอว่าเงินเดือนไม่กี่ตังค์ สู้ภรรยาเขาที่ประกอบธุรกิจส่วนตัวไม่ได้ แต่ที่ยังทนรับราชการเนื่องจากต้องการให้คนใดคนหนึ่งมั่นคงไว้ก่อน) แต่การรับราชการของเธอคงไม่ใช่แค่ยึดเป็นอาชีพเพื่อความมั่นคงเท่านั้น แต่เธอสามารถเป็นถึงตัวแทนของสภาประชาชนจีน (Representative of the National People Congress) ประจำมณฑลหูหนาน
สำหรับเสน่ห์ของซ่งจู่ยิงนั้น นอกจากน้ำเสียงที่ใส ไพเราะแล้ว หน้าตาและกิริยาที่อ่อนช้อยอ่อนโยนที่ดูจะแตกต่างจากสาวจีนทั่ว ๆ ไป การวางตัวและใช้ชีวิตที่เพียบพร้อมไปตัวคุณสมบัติของกุลสตรี ครั้งแรกที่ได้เห็นเธอนั้น ทำให้ผมนึกถึงอดีตนักร้องสาวไทยคนหนึ่งในวงโฟล์คซองคำเมืองของคุณจรัล มโนเพชร นั่นคือคุณสุนทรี เวชานนท์ ซึ่งมีคุณสมบัติที่คล้าย ๆ กันคือความสวย กิริยาที่อ่อนโยน น้ำเสียงที่ใส ไพเราะ ที่สำคัญคือ คนเผ่าแม้วกับคนล้านนา หน้าตาผิวพรรณดูช่างเหมือนคนบ้านเดียวกัน


ซ่งจู่ยิง (Song Zuying) 宋祖英ดอกไม้พงไพร ชูช่อสง่างามในวงการดนตรีจีน-3
การไปแสดงคอนเสิร์ตที่ซิดนีย์โอเปร่าเฮาส์ ประเทศออสเตรเลียถือเป็นการแสดงเดี่ยวในต่างประเทศครั้งแรกของเธอ และเป็นศิลปินชาวเอเชียคนแรกที่ได้มาแสดง ณสถานที่แห่งนี้ แต่ดูเธอจะมีความมั่นใจและสามารถเข้ากันได้อย่างดีกับเพื่อนร่วมทำงานอย่างคณะคอรัส(Chorus) ที่มีทั้งชาวออสซี่ฝรั่งและเชื้อสายคนเอเชียร่วมสองร้อยชีวิตนักดนตรีในวงซิมโฟนีที่แบคอัพให้ ตลอดการแสดงเธอสามารถตรึงสมาธิของทุกคนอย่างกับต้องมนต์สะกด การแสดงครั้งนี้ใช้ชื่องานว่า“วันดีชื่นสุข” 好日子 หรือ Good Days อำนวยเพลงโดย อยู๋หลง 瑜隆 (Yu Long) การแสดงเริ่มต้นด้วย
เพลงที่ 1 茉莉花 Jasmine Flower หรือ ดอกมะลิ เป็นเพลงพื้นบ้านของ เจียงซู 江苏(Jiang Xu) เธอปรากฏตัวในชุดขาวสะอาดราวกับดอกมะลิหลังจากวงซิมโฟนีขึ้นอินโทร เพลงนี้เหมือนกับอุ่นเครื่องเรียกน้ำย่อย เป็นเพลงจังหวะเรียบ ๆ ฟังสบาย
เพลงที่ 2 辣妹子 Spice Girl หรือแม่สาวเผ็ดร้อน บทเพลงพื้นบ้านของหู-หนาน 湖南(Hunan)จังหวะในเพลงนี้เผ็ดสมชื่อ เป็นจังหวะเร็ว สนุกสนานดูจากสีหน้าท่าทางของทั้งคนร้อง คนสีไวโอลิน รวมทั้งผู้อำนวยเพลงต่างก็โยกตัวตามจังหวะเพลง
เพลงที่ 3 小背篓 Little Back-basket หรือตะกร้าน้อยบนหลัง เป็นเพลงที่ซ่งจู่ยิงร้องรำลึกถึงบ้านเกิด และชีวิตในวัยเด็กที่คุณแม่เธอจับเธอใส่ตะกร้ากระเต็งไว้บนหลังเวลาออกไปทำงานในสวน และเนื่องจากการทำงานในสวนทั้งวัน บ่อยครั้งที่หนูซ่งหลับปุ๋ยในตะกร้าบนหลัง และหลายครั้งก็ปัสสาวะรดหลังคุณแม่ แต่คุณแม่ก็เหลียวหลังมองหน้าลูกน้อยพร้อมส่งยิ้มอย่างอบอุ่น ซึ่งรอยยิ้มแม่ยังตราตรึงในหัวใจของซ่งจู่ยิงจนทุกวันนี้เพลงนี้ฟังแล้วต้องอมยิ้มในความน่ารักและอบอุ่น
เพลงที่ 4 海风阵阵愁煞人, 珊湖颂 Sea Breeze Makes Me Sadเพลงนี้ฉีกจากบทเพลงอื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นเป็นพื้นบ้าน แต่เพลงนี้เป็นเพลงสมัยใหม่ที่แต่งขึ้นช่วงปฏิวัติ เพลงได้บรรยายถึงความทุกข์ยากของชาว-บ้านในสมัยสังคมเก่าก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง การร้องที่เศร้าสร้อยซึ่งแสดงออกทั้งทางน้ำเสียงและสีหน้า ทำให้อารมณ์ผู้เช้าชมถึงตราตรึงอยู่ในความสงบ เพลงนี้ซ่งจู่ยิงสามารถแสดงถึงพลังเสียงอันหนักแน่น แต่ยังคงความใสในขณะที่ไต่เสียงสูงขึ้นแบบสุด ๆ ทำให้ผู้ชมต้องปรบมือถึงสองครั้งสองครา
เพลงที่ 6 今日苗山歌最多 So many songs today on the MiaoPeople’s Land หรือมี่บทเพลงมากมายในแผ่นดินชาวแม้ว เพลงนี้ซ่งจู่ยิงมาในชุดของชนเผ่าแม้วอันสวยงาม เพลงนี้เป็นเพลงจังหวะสนุกบรรยายถึงแผ่นดินของชาวชนเผ่าแม้วที่อยู่อย่างมีความสุข เต็มไปด้วยเสียงเพลงและน่าจะสะท้อนชีวิตของซ่งจู่ยิงเอง จากบทเพลงที่ร้องว่าชาวแม้วชอบร้องเพลง ภูผาคือบทเพลง และบทเพลงคือภูผา แสดงให้เห็นถึงทุกหนทุกแห่งของแผ่นดินชาวแม้วล้วนเต็มไปด้วยเสียงเพลง
เพลงที่ 14 爱我中华 Love my Chinaห รือรักประเทศจีนของฉัน เป็นเพลงก่อนจบการแสดง เพลงที่มีจังวหะหนักแน่น มีพลัง เสียงคณะนักร้องคอรัสสองร้อยชีวิต ร้องประสานเสียงเป็นแบ็กกราวเสริมพลังมากยิ่งขึ้นต้องยอมรับว่าทำให้เลือดลมรักชาติสูบฉีดพุ่งแรงในร่างกายของทุกคนที่มีสายเลือดมังกรเจือปน
เพลงที่ 15 Still call Australia Home เป็นการนำเพลงพื้นบ้านของออส-เตรเลียมาร้อง และเป็นเพลงเดียวในงานที่เธอร้องเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งแน่นอนต้องเป็นที่ชื่นชอบถูกอกถูกใจของชาวออสซี่ เพราะทุกคนในฮอลล์ต่างปรบมือไปตามจังหวะเพลงจนจบ
เมื่อจบการแสดงแล้ว ผู้ชมต่างลุกขึ้นยืนปรบมืออย่างกึกก้องและยาวนานซึ่งเป็นวัฒนธรรมในการชมการแสดงของชาวตะวันตกที่เป็นการให้เกียรติแก่ผู้แสดง จนม่านเวทีได้ปิดฉากลง ถึงแม้ม่านบนเวทีการแสดงจะปิดฉากลงแล้วก็ตาม แต่ม่านในดวงใจของทุกคนที่รับชมกลับเปิดฉากขึ้นต้อนรับซ่งจู่ยิง ดอกไม้ป่าช่องามไว้ในดวงในตลอดไป

บทความจาก

วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

บทความประทับใจ แม่ค้าม้งข้ามพรมแดน

เเม่ค้าม้งข้ามพรมแดน วิถีชีวิตของผู้คนตามรอยต่อชายแดน ของไทย ลาว และเวียดนาม ไม่เพียงมีลักษณะแตกต่างจากวิถีชีวิตคนเมืองในด้านวัตถุธรรมเท่านั้น หากยังมีเสน่ห์และแง่มุมหลากหลายที่ชวนให้คิด ประทับใจ และทำความรู้จัก โสภิดา วีรกุลเทวัญ ย้อนรอยประสบการณ์ที่ผ่านมา โดยพาไปสัมผัสเรื่องราวเหล่านี้ราวกับเหตุการณ์จริงๆ กำลังเกิดขึ้นเบื้องหน้า ยามเช้าวันหนึ่งของปลายฤดูฝน ณ โรงเตี๊ยมแห่งเดียวในเมืองใหม่ แขวงพงสาลี เมืองชายแดนลาวทางตอนเหนือ รอยต่อกับชายแดนเวียดนามในแถบเมืองเดียนเบียนฟู ผู้หญิงสามคนต่างวัยกำลังล้อมวงอาหารเช้า เมื่อเหลือบไปดูจึงเห็นข้าวสวยร้อนๆ และแกงผักกาดเขียว อดแปลกใจตามประสาผู้ได้กินและเห็นแต่ข้าวเหนียวมาตลอดการเดินทางหลายวันในประเทศลาว “เราเอาข้าวมาหุงเอง ไม่ชอบกินข้าวเหนียว” เป็นคำตอบจากหนึ่งในสามของวง นางผู้ตอบคือหญิงวัยกลางคนที่ยากจะระบุอายุอานามที่แท้จริง นางมีวงหน้าเหี่ยวย่นไปตามวัยแต่ดูสดใส ร่าเริง ยิ่งในยามแย้มยิ้มแลเห็นฟันเคลือบทองสลับกันหลายซี่ ยิ่งดูเป็นมิตร ขณะที่อีกนางหนึ่งกลับดูเงียบเฉยและไม่อยากสบตาคนแปลกหน้า ส่วนหญิงที่ดูมีอายุอ่อนวัยที่สุดในกลุ่ม มีดวงหน้าเกลี้ยงเกลา ยามส่งยิ้มเผยให้เห็นฟันเรียบขาวและเหงือกอมชมพู แม้จะไม่บ่อยครั้งนักแต่ก็ได้ช่วยผ่อนคลายความเคร่งขรึมบนใบหน้าให้กลายเป็นความสดใส เมื่อพูดคุยกันตามประสาคนผ่านทาง จึงได้รู้ว่า เราต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ กำลังรอขึ้นรถโดยสารออกจากเมืองใหม่ โดยมีจุดหมายปลายทางเดียวกันคืออีก 42 หลัก หรือกิโลเมตรข้างหน้า ได้แก่ เมืองขวา ริมฝั่งน้ำอู อีกหลายชั่วโมงนักกว่ารถโดยสารจะออกจากท่า โอกาสในการรู้จักกันจึงมีไม่น้อย นางผู้สูงวัยที่สุดในกลุ่ม เป็นมารดาของผู้อ่อนเยาว์ ส่วนอีกนางหนึ่งไม่ได้รับการระบุความสัมพันธ์จากทั้งคู่ชัดเจนนัก อาจเป็นเพื่อนบ้านหรืออาจเป็นญาติ แต่นั่นไม่ได้เป็นเรื่องน่าสนใจเท่ากับว่า หญิงทั้งสามเดินทางมาถึงเมืองใหม่เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา และเข้าพักยังโรงเตี๊ยมแห่งเดียวกัน นางทั้งสามมักจะใช้โรงเตี๊ยมแห่งนี้เป็นที่พักค้างคืนอย่างน้อยที่สุดหนึ่งคืนอยู่เป็นประจำทุกเดือน เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? “เมื่อคืนเรามาจากเวียด” เป็นคำตอบสั้นๆ ที่ยั่วเย้าให้เกิดการซักถามต่อ “ไปค้าขายหรือไปเยี่ยมพี่น้อง” คนแปลกหน้าถาม จากนั้นเรื่องราวจึงค่อยๆ ปะติดปะต่อได้ความว่า นางทั้งสามเดินทางไปค้าขายที่เมืองเดียนเบียนฟู และกลับมาค้างคืนยังโรงเตี๊ยมแห่งนี้เพื่อต่อไปยังเมืองขวา จากนั้นจึงนั่งรถโดยสารไปยังเมืองไทรในแขวงอุดมไทร เส้นทางการเดินทางของนางเกิดขึ้นเป็นประจำเช่นนี้ในแต่ละเดือน แม้ว่าการแต่งกายจะไม่ได้สะท้อนความเป็นชาติพันธุ์ใดๆ ดังจะเห็นได้จากหญิงสาวผู้อ่อนวัยที่สุดสวมกางเกงยืดลายดอกเล็กทันสมัยและเสื้อไหมพรมแขนยาวสีเขียว ส่วนอีกสองนางสวมผ้าซิ่นและเสื้อแขนยาวมีกระเป๋าสองข้าง เหมือนหญิงชาวบ้านวัยกลางคนตามชนบทของไทย แต่ข้าวสวยร้อนๆ และการเปล่งเสียงพูดด้วยเสียงสั้นๆ ที่ไม่มีตัวสะกดประกอบกับรูปพรรณสัณฐานของดวงหน้าที่มีความเฉพาะ ทำให้อดเดาไม่ได้ว่า ช่างมีน้ำเสียงใกล้เคียงกับชาวม้งในเมืองไทยที่เราได้มีโอกาสพบเห็น เมื่อถามพวกนางว่าเป็นชาวอะไร ได้รับคำตอบว่า “เราเป็นลาวสูง บ้านอยู่อุดมไทร” ม้งเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทางการลาวใช้คำเรียกรวมๆ ว่า 'ลาวสูง' เช่นเดียวกับชาว 'อาข่า' และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง หญิงชาวม้งทั้งสามเดินทางข้ามพรมแดนไปค้าขายถึงเมืองเดียนเบียนฟูในเวียดนาม และดูเหมือนเรื่องราวยิ่งน่าสนุกยิ่งขึ้น เมื่อหญิงผู้อ่อนวัยในกลุ่มบอกเล่าถึงเส้นทางการค้าที่ยาวไกลออกไป ไม่เฉพาะลาวและเวียดนามเท่านั้น แต่เลยมาถึงประเทศไทย ในรอบหนึ่งเดือน นางจะเดินทางไปยังอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยนั่งรถจากเมืองอุดมไทร-บ้านที่พำนักอยู่ไปลงรถที่ปากแบง และจากนั้นจึงต่อเรือเร็ว เพื่อเดินทางไปซื้อ ‘เครื่องนุ่ง’ ทั้งหลายจากตลาดนัดในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ตลาดนัดประจำเมืองเชียงของ จะมีในทุกวันศุกร์ และเครื่องนุ่งจากไทยจะถูกนำกลับไปยังบ้านของนางที่เมืองอุดมไทร เมื่อหยุดพักทำกิจธุระต่างๆ ที่บ้านในเมืองอุดมไทรแล้ว จากนั้นนางและแม่ และสมาชิกร่วมทาง จึงออกเดินทางพร้อมสินค้าที่ส่วนใหญ่เป็นเครื่องนุ่งของไทย เดินทางจากอุดมไทรมายังเมืองขวาในแขวงพงสาลี ระยะทางราว 100 กิโลเมตร เมืองขวา จะเป็นจุดที่รอรถโดยสารสำหรับเดินทางไปยังเวียดนาม เพื่อนำเครื่องนุ่งของไทยไปค้าขายยังเมืองเดียนเบียนฟู ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีกกว่า 100 กิโลเมตร แม่ค้าชาวม้งเล่าว่า ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ชายแดนเวียดนาม อนุญาตให้คนลาวเข้าไปพำนักอยู่ราว 7 วัน ขณะที่การเดินทางข้ามพรมแดนมาฝั่งไทย เป็นการเดินทางด้วยเส้นทางที่พวกเขาคุ้นเคย มากกว่าเป็นการข้ามพรมแดนตามจุดกำหนดควบคุมการเดินทางเข้าออกของผู้คนที่รัฐชาติไทยกำหนดไว้ แต่กระนั้นการมาซื้อเครื่องนุ่งในฝั่งไทย มักเป็นการเดินทางมาแบบเช้าเย็นกลับมากกว่ามานอนค้างคืน ช่วงเวลาที่คนแปลกหน้ากับหญิงชาวม้งทั้งสามได้มีโอกาสรู้จักกัน ณ โรงเตี๊ยมในเมืองใหม่ คือเส้นทางขากลับหลังจากที่พวกนางนำเครื่องนุ่งจากไทยไปค้าในเวียดนามนั่นเอง คำถามซอกแซกผุดขึ้นในใจ เมื่อแลเห็นนางทั้งสาม ทยอยแบกกระสอบใบโตขนาด 2 เท่าของตัวขึ้นหลัง เดินจากโรงเตี๊ยมไปวางในรถโดยสาร 6 ล้อ นางสามคนมีกระสอบถึง 4 ใบ แต่ละใบอัดแน่นไปด้วยสิ่งของ ในฐานะคนแปลกหน้าต่อกัน การรุกรานด้วยคำถามจึงถูกชะลอลงไปบ้าง รอให้โอกาสมาถึง คงได้ไขปริศนาที่คาใจ การเดินทางโดยรถประจำทาง ทำให้ได้มีโอกาสสัมผัสผู้คนและกิจกรรมในระดับชีวิตประจำวันของพวกเขาอย่างแท้จริง หญิงม้งผู้เป็นแม่ซื้อไก่เป็นๆ ซึ่งยืนนิ่ง งงงวย อยู่ในตะกร้าสานหยาบๆ จำนวน 6 ตัว “ซื้อกลับไปเลี้ยงที่บ้าน” นางอธิบายเพิ่มเติมหลังจากยื่นตะกร้าไก่ส่งให้คนขับรถนำไปวางไว้บนหลังคารถโดยสาร ขณะที่บริเวณหลังรถยังมีหมูน้อยนอนทำตาอ้อยสร้อยในตะกร้าแบบเดียวกันอีกหนึ่งตัว สงสัยยังไม่ทันไร เจ้าของหมูก็มาแสดงตัว เธอเป็นหญิงชาวเมืองใหม่มาส่งลูกสาวอายุ 14 ปี ขึ้นรถโดยสารไปเรียนหนังสือที่เมืองขวา เด็กสาวไปพำนักกับญาติพี่น้องต่างเมือง ผู้เป็นแม่จึงนำข้าวสารหนึ่งกระสอบพร้อมหมูน้อยหนึ่งตัวให้ลูกสาวติดตัวไป เมื่อแม่หมูอายุ 1 ปี จะเกิดลูกหมูอีกหลายตัว และลูกหมูสามารถแปรเปลี่ยนเป็นเงินเพื่อมาร่วมแบ่งเบาภาระค่ากินอยู่ของญาติพี่น้องตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ระหว่างที่ลูกสาวไปพำนักด้วย ช่างน่าตื่นเต้นกับรายละเอียดของวิธีคิดที่รอบด้านและถ้อยทีถ้อยอาศัยในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เรื่องราวเช่นนี้อาจดูแปลกใหม่สำหรับชาวเมือง แต่สำหรับแม่หญิงชาวม้ง นางหันมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ชาวม้งก็ทำแบบเดียวกันนี้ยามเมื่อส่งลูกหลานไปอยู่กับญาติพี่น้องต่างเมือง ใกล้เวลา 9 นาฬิกาเศษ ผู้โดยสารส่วนใหญ่ขึ้นไปนั่งบนรถเตรียมตัวเดินทาง หญิงชาวม้งผู้เป็นแม่ บิดกล้วยน้ำว้ายื่นให้คนแปลกหน้าหนึ่งผล ไม่เพียงเท่านั้น นางยังบิดกล้วยออกจากหวีแจกเพื่อนร่วมทางที่นั่งข้างๆ อีก 4-5 คน พร้อมส่งรอยยิ้มแลเห็นฟันทองคำงามอร่าม นับเป็นการแสดงน้ำใจที่น่ารักยิ่ง รถโดยสาร 6 ล้อ บนเส้นทางลูกรัง แม้ปลายทางจะอยู่ห่างไปเพียงแค่ 42 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ระยะเวลาบนรถกลับยาวนานยิ่ง นักเดินทางผู้มีประสบการณ์ในประเทศลาวเปรยให้ฟังว่า คำถามสำคัญที่ยากจะได้รับคำตอบในการเดินทางในประเทศนี้คือ "กี่โมงจะถึง?" เป็นคำถามที่มีโอกาสได้คำตอบชัดเจนแน่นอนได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลา หรือเรื่องอายุ ดังเช่นที่คนต่างถิ่นคนหนึ่งถามถึงอายุของหญิงชาวม้งผู้เป็นแม่ นางตอบทันทีพร้อมรอยยิ้มว่า “ไม่รู้ 60 หรือ 70 ปีมั้ง” ฉันอดขำไม่ได้เมื่อชายชาวลาวคนหนึ่งที่เป็นคนแปลกหน้าไม่ต่างอะไรกับผู้ถามสวนขึ้นมาทันทีว่า "ไม่ถึงหรอก คงอายุ 50 กว่า” ความชัดเจน แน่นอนในเรื่องอายุ เวลา หรือในอีกหลายเรื่อง อาจเป็นเรื่องสำคัญสำหรับวิถีชีวิตของผู้คนกลุ่มหนึ่ง แต่สำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่ง เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้สลักสำคัญมากนัก แล้วสิ่งที่ไม่แน่นอนก็เกิดขึ้นให้ประจักษ์ตรงหน้า เมื่อรถโดยสาร 6 ล้อ ทำท่าไม่สามารถขยับไปได้เสียเฉยๆ หลังจากมีเสียงเครื่องยนต์ครืดคราดอยู่สองหน เหลือระยะทางอีกไม่ไกลนักใกล้จะถึงจุดหมายปลายทาง แม้จะไม่ไกลแต่ก็ไกลเกินกว่าจะแบกสัมภาระของผู้โดยสารแต่ละคนเดินทางต่อไป ไม่มีเสียงบ่นใดๆ จากผู้โดยสารในรถแม้แต่คนเดียว ทุกคนปฏิบัติตนราวกับเป็นความปกติอื่น ๆ ของชีวิต เมื่อรถจอดดับเครื่องยนต์นิ่งสนิท คนขับรถและชายหนุ่มบางคนช่วยกันยกหัวรถด้านหน้าขึ้น และก้มลงไปซ่อมเครื่องใต้ท้องรถ “จะซ่อมได้ไหม และถ้าซ่อมได้นานแค่ไหนกว่าจะเสร็จ ?, มีรถโดยสารคันอื่นผ่านมาหรือเปล่า ฯลฯ” ไม่มีใครทำท่ากระตือรือร้นจะสืบค้นหาคำตอบใดๆ ทั้งสิ้น ดูราวกับว่าหากใครเผลอถาม ช่างเป็นการแสดงความฉลาดน้อยสิ้นดี เราทุกคนต่างต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ และเรียนรู้คุณค่าแห่งการรอคอยระหว่างที่รถโดยสารกำลังได้รับการซ่อมแซม แม่ค้าชาวม้งนางหนึ่งเปิดกระสอบและหยิบเครื่องนุ่งหลายชิ้นที่ยังไม่แห้งสนิทออกมาตากที่รั้วไม้ริมถนน ผู้โดยสารรายอื่นๆ เปลี่ยนอิริยาบถจากท่านั่งบนเบาะเป็นการลงไปนั่งบนกระสอบที่วางอยู่ในรถ ทำให้ได้เอนหลังสบายกายขึ้นและสนทนาจิปาถะกับเพื่อนร่วมทางรายอื่นๆ ผู้โดยสารจากเมืองไทยเริ่มหาโอกาสพูดคุยกับหญิงชาวม้งผู้เป็นแม่อีกครั้ง เป็นคำถามเดิมที่คาใจ ‘สินค้าชนิดใดหนอที่พวกนางนำกลับมาจากเวียดนาม’ “อะไรอยู่ในกระสอบใบโตเหล่านี้” และแล้วใครคนหนึ่งก็ช่วยคลี่คลายด้วยการชิงถามประโยคนี้ขึ้น หญิงม้งผู้เป็นแม่อาจรู้สึกว่า ยากเกินกว่าที่จะตอบกระมัง นางจึงจัดการแกะเชือกที่พันกระสอบออกทีละปม ทีละปม เมื่อกระสอบถูกเปิดออกเผยให้เห็นสิ่งของที่อยู่ด้านใน ในกระสอบอัดแน่นไปด้วยผ้าปักหลากสีนับไม่ถ้วน ชาวม้งเรียกผ้าปักเหล่านี้ว่า 'บั๋นเด๋า' ‘บั๋น’ หมายถึง ดอกไม้ ‘เด๋า’ หมายถึง ผ้า ภายในกระสอบมีบั๋นเด๋าที่ใช้สำหรับพันเอวจำนวนมาก บางชิ้นดูเก่าเหลือหลาย บางชิ้นยังดูใหม่เอี่ยม แต่ละผืนสีสันหลากตา ผ้าพันเอวเหล่านี้ถูกพันด้วยผ้าเป็นมัดๆ ละ 10 ผืน มีหลายสิบมัด ด้านล่างของกระสอบยังมีกระโปรงม้งอัดพลีทรอบตัว นักเดินทางที่เป็นเหล่าปีศาจผ้าตาลุกวาว การชอปปิงบนรถโดยสารระหว่างรอการซ่อมแซมรถจึงเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ นับเป็นการฆ่าเวลาได้เป็นอย่างดี ระหว่างนั้นใครบางคนรำพึงอย่างเดียงสาว่า “โถ..ม้งหลายร้อยคนคงต้องสูญเสียผ้าพันเอวมาอยู่กระสอบฟางใบนี้เอง” ชาวม้งแต่ละคนจะมีผ้าพันเอวคนละหลายผืน แม่หญิงชาวม้งไขข้อกังขา ผ้าพันเอวตลอดจนผ้าเก่าของชาวม้งที่เวียดนาม คือสินค้าที่แม่ค้าชาวม้งจากลาวไปรับซื้อจากเครือข่ายพี่น้องม้งในเวียดนาม เพื่อนำมาส่งขายต่อให้กับชาวม้งที่ทำงานหัตถกรรมในเมืองหลวงพระบางและฝั่งไทย การซื้อขายผ้าปักของชาวม้ง กระทำผ่านการนำเครื่องนุ่งจากไทยไปแลก แม่หญิงชาวม้งเล่าว่า เสื้อผ้าที่พวกนางเดินทางไปซื้อที่ตลาดนัดอำเภอเชียงของจะถูกนำมาแลกกับผ้าปัก ผ้าพันเอว ตลอดจนเสื้อผ้าเก่าของชาวม้งในเวียดนาม ผ้าเก่าของม้งที่บรรจุในกระสอบจะถูกนำไปแยก หากผืนใดที่เปรอะเปื้อนเพราะผ่านการใช้งานมาอย่างหนัก จะได้รับการทำความสะอาด ก่อนส่งต่อไปยังชาวลาวสูงหรือชาวม้งยังเมืองหลวงพระบาง และถ้าหากมีเหลือหรือมีออเดอร์จากม้งในฝั่งไทย ผ้าเก่าเหล่านี้ก็จะถูกนำไปส่งยังชาวม้งในฝั่งไทยเช่นกัน ใครที่เคยมีโอกาสไปเมืองหลวงพระบาง คงจะได้เห็นเครื่องนุ่ง กระเป๋าและสิ่งของอีกหลายชนิดที่เป็นฝีมือชาวม้ง วัตถุดิบที่เป็นผ้าปักชาวม้งจำนวนไม่น้อยเหล่านี้เดินทางมาไกลจากเวียดนามทีเดียว แม้การชอปปิงของเหล่าปีศาจผ้าจะกินเวลานานเกือบชั่วโมงกว่าจะสิ้นสุดลง โดยแม่หญิงชาวม้งมอบของที่ระลึกเป็นผ้าปักชิ้นเล็กให้แก่เพื่อนร่วมทาง แต่รถ 6 ล้อคันโตก็ยังไม่มีวี่แววจะซ่อมเสร็จ หลังการค้าขายบนรถโดยสาร แม่ค้าชาวม้งคว้าผ้าปักผืนเล็กพร้อมเข็มและด้ายไปหามุมสงบของตนและตั้งหน้าตั้งตาปักผ้าตรงหน้าต่อไป อิริยาบถเช่นนี้สามารถพบเห็นเป็นประจำจากหญิงชาวม้งในพื้นที่ต่างๆ ช่างเป็นการใช้เวลาในการรอคอยอย่างคุ้มค่ายิ่ง อีกราว 2 ชั่วโมง รถโดยสารคันโตจากเดียนเบียนฟูวิ่งผ่านไป ทั้งผู้โดยสารและสัมภาระอัดแน่นเกินกว่าจะมีที่เหลือสำหรับผู้โดยสารอื่นใดอีก หญิงชาวม้งหันมาบอกว่า ยังมีกระสอบผ้าของนางอยู่บนรถคันนั้น เพราะเกินกำลังกว่าจะแบกมาด้วยตนเองได้ นางจึงต้องเดินทางไปให้ถึงเมืองขวาเพื่อรอรับสัมภาระดังกล่าว ในที่สุด การรอคอยได้สิ้นสุดลง เมื่อชายฉกรรจ์ปิดหัวรถ 6 ล้อลงให้อยู่กับที่กับทางดังเดิม เสียงสตาร์ทรถดังขึ้นอีกครั้ง การเดินทางจึงดำเนินต่อไป ใช้เวลาอีกไม่นานนัก เราทุกคนต่างมาถึงเป้าหมายโดยสวัสดิภาพ ณ จุดปลายทาง ทุกฝ่ายต่างเร่งรีบชดเชยเวลาที่สูญเสียเพื่อมุ่งหน้าไปยังเป้าหมายถัดไป โอกาสล่ำลากันแทบไม่มี เหลือไว้แต่ความทรงจำและคำถามที่ค้างคาใจรอวันได้ไขปริศนาอีกมากมาย. กรุงเทพธุรกิจ 12 พฤษภาคม 2548 ที่มา : โสภิดา วีรกุลเทวัญ
http://www.statelessperson.com/www/?q=node/429

วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ร่วม​กัน​จัด​พิธี​ฝัง​ศพ​นาย​พล​วัง เ​ปา

ลอสแอน​เจ​ลิส-กระทรวง​กลาโหม​และ​กองทัพ​สหรัฐฯ ร่วม​กับ​สถาบัน​ทหารผ่านศึก​ลาว​ใน​อเมริกา (LVAI) ร่วม​กัน​จัด​พิธี​ฝัง​ศพ​นาย​พล​วัง เ​ปา อดีต​ผู้​นำ​กอง​กำลัง​ชาว​ม้ง​ลาว​ที่​ช่วยเหลือ​กองทัพ​สหรัฐฯ ต่อสู้​ใน​สงคราม​เวียดนาม ที่​สุสาน​ทหารผ่านศึก​แห่งชาติ​ใน​เมือง​อาร์​ลิง​ตัน​ของ​สหรัฐฯ เมื่อ 13 พ.ค. เพื่อ​เป็น​การ​ยุติ​ข้อ​พิพาท​ระหว่าง​สหรัฐฯ กับ​ชาว​ม้ง​ลาว​อพยพ หลัง​นาย​พล​เสีย​ชีวิต​เมื่อ 6 ม.ค.ต้นปีที่ผ่านมา

วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สาวม้งเมืองน่าน คว้าตำแหน่งธิดาชาวไทยภูเขาในพญาผึ้งเกมส์ ครั้งที่ 23 ที่ จ.ราชบุรี

นางภัทราภรณ์ บรรเทาทุกข์ วัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี เปิดเผยถึงผลการประกวดธิดาชาวไทยภูเขา ในโครงการถนนสายวัฒนธรรม ซึ่งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี จัดบูรณาการร่วมกับการจัดการแข่งขันกีฬาชาวไทยภูเขาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 23 ประจำปี 2554 “พญาผึ้งเกมส์” ระหว่างวันที่ 6-10 พฤษภาคม 2554 ณ บริเวณสนามกีฬาจังหวัดราชบุรี โดยปรากฏผลดังนี้
รางวัลธิดาชาวไทยภูเขา ประจำปี 2554 ได้แก่ นางสาวภัทราวดี แซ่ม้า ชาวเขาเผ่าม้ง จ.น่าน รับถ้วยรางวัล พร้อมสายสะพาย และเงินสด 10,000 บาท
รางวัลรองอันดับ 1 ธิดาชาวไทยภูเขา ประจำปี 2554 ได้แก่ นางสาวภารณี เจริญทิพยวงศ์ ชาวเขาเผ่าปกากะญอ จ.เชียงใหม่ รับรางวัลสายสะพาย และเงินสด 7,000 บาท
รางวัลรองอันดับ 2 ธิดาชาวไทยภูเขา ประจำปี 2554 ได้แก่ นางสาวสุภาพร แซ่เติ่น ชาวเขาเผ่าเย้า จ.กำแพงเพชร รับรางวัลสายสะพาย และเงินสด 5,000 บาท
รางวัลขวัญใจสื่อมวลชน ได้แก่ นางสาวรัชนี ปัจจะคีรี ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง จ.ลำพูน รับรางวัลสายสะพาย พร้อมเงินสด 5,000 บาท
รางวัลแต่งกายสวยงาม และ รางวัลขวัญใจมหาชน ได้แก่ นางสาวสุภาพร แซ่เติ่น ชาวเขาเผ่าเย้า จ.กำแพงเพชร รับถ้วยรางวัล พร้อมสายสะพาย และเงินสดรวม 10,000 บาท
ทั้งนี้ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ราชบุรี F.M. 101.75 MHz. และ A.M. 1593 KHz.เป็นแม่ข่ายในการถ่ายทอดเสียงพิธีปิดการแข่งขันฯ ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ตั้งแต่เวลา 16.00 – 19.00 น. ด้วย
ดูข้อมูลพญาผึ้งเกมส์ได้ตามลิงค์นี้
http://122.154.90.42/wp/