วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

บทความประทับใจ แม่ค้าม้งข้ามพรมแดน

เเม่ค้าม้งข้ามพรมแดน วิถีชีวิตของผู้คนตามรอยต่อชายแดน ของไทย ลาว และเวียดนาม ไม่เพียงมีลักษณะแตกต่างจากวิถีชีวิตคนเมืองในด้านวัตถุธรรมเท่านั้น หากยังมีเสน่ห์และแง่มุมหลากหลายที่ชวนให้คิด ประทับใจ และทำความรู้จัก โสภิดา วีรกุลเทวัญ ย้อนรอยประสบการณ์ที่ผ่านมา โดยพาไปสัมผัสเรื่องราวเหล่านี้ราวกับเหตุการณ์จริงๆ กำลังเกิดขึ้นเบื้องหน้า ยามเช้าวันหนึ่งของปลายฤดูฝน ณ โรงเตี๊ยมแห่งเดียวในเมืองใหม่ แขวงพงสาลี เมืองชายแดนลาวทางตอนเหนือ รอยต่อกับชายแดนเวียดนามในแถบเมืองเดียนเบียนฟู ผู้หญิงสามคนต่างวัยกำลังล้อมวงอาหารเช้า เมื่อเหลือบไปดูจึงเห็นข้าวสวยร้อนๆ และแกงผักกาดเขียว อดแปลกใจตามประสาผู้ได้กินและเห็นแต่ข้าวเหนียวมาตลอดการเดินทางหลายวันในประเทศลาว “เราเอาข้าวมาหุงเอง ไม่ชอบกินข้าวเหนียว” เป็นคำตอบจากหนึ่งในสามของวง นางผู้ตอบคือหญิงวัยกลางคนที่ยากจะระบุอายุอานามที่แท้จริง นางมีวงหน้าเหี่ยวย่นไปตามวัยแต่ดูสดใส ร่าเริง ยิ่งในยามแย้มยิ้มแลเห็นฟันเคลือบทองสลับกันหลายซี่ ยิ่งดูเป็นมิตร ขณะที่อีกนางหนึ่งกลับดูเงียบเฉยและไม่อยากสบตาคนแปลกหน้า ส่วนหญิงที่ดูมีอายุอ่อนวัยที่สุดในกลุ่ม มีดวงหน้าเกลี้ยงเกลา ยามส่งยิ้มเผยให้เห็นฟันเรียบขาวและเหงือกอมชมพู แม้จะไม่บ่อยครั้งนักแต่ก็ได้ช่วยผ่อนคลายความเคร่งขรึมบนใบหน้าให้กลายเป็นความสดใส เมื่อพูดคุยกันตามประสาคนผ่านทาง จึงได้รู้ว่า เราต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ กำลังรอขึ้นรถโดยสารออกจากเมืองใหม่ โดยมีจุดหมายปลายทางเดียวกันคืออีก 42 หลัก หรือกิโลเมตรข้างหน้า ได้แก่ เมืองขวา ริมฝั่งน้ำอู อีกหลายชั่วโมงนักกว่ารถโดยสารจะออกจากท่า โอกาสในการรู้จักกันจึงมีไม่น้อย นางผู้สูงวัยที่สุดในกลุ่ม เป็นมารดาของผู้อ่อนเยาว์ ส่วนอีกนางหนึ่งไม่ได้รับการระบุความสัมพันธ์จากทั้งคู่ชัดเจนนัก อาจเป็นเพื่อนบ้านหรืออาจเป็นญาติ แต่นั่นไม่ได้เป็นเรื่องน่าสนใจเท่ากับว่า หญิงทั้งสามเดินทางมาถึงเมืองใหม่เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา และเข้าพักยังโรงเตี๊ยมแห่งเดียวกัน นางทั้งสามมักจะใช้โรงเตี๊ยมแห่งนี้เป็นที่พักค้างคืนอย่างน้อยที่สุดหนึ่งคืนอยู่เป็นประจำทุกเดือน เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? “เมื่อคืนเรามาจากเวียด” เป็นคำตอบสั้นๆ ที่ยั่วเย้าให้เกิดการซักถามต่อ “ไปค้าขายหรือไปเยี่ยมพี่น้อง” คนแปลกหน้าถาม จากนั้นเรื่องราวจึงค่อยๆ ปะติดปะต่อได้ความว่า นางทั้งสามเดินทางไปค้าขายที่เมืองเดียนเบียนฟู และกลับมาค้างคืนยังโรงเตี๊ยมแห่งนี้เพื่อต่อไปยังเมืองขวา จากนั้นจึงนั่งรถโดยสารไปยังเมืองไทรในแขวงอุดมไทร เส้นทางการเดินทางของนางเกิดขึ้นเป็นประจำเช่นนี้ในแต่ละเดือน แม้ว่าการแต่งกายจะไม่ได้สะท้อนความเป็นชาติพันธุ์ใดๆ ดังจะเห็นได้จากหญิงสาวผู้อ่อนวัยที่สุดสวมกางเกงยืดลายดอกเล็กทันสมัยและเสื้อไหมพรมแขนยาวสีเขียว ส่วนอีกสองนางสวมผ้าซิ่นและเสื้อแขนยาวมีกระเป๋าสองข้าง เหมือนหญิงชาวบ้านวัยกลางคนตามชนบทของไทย แต่ข้าวสวยร้อนๆ และการเปล่งเสียงพูดด้วยเสียงสั้นๆ ที่ไม่มีตัวสะกดประกอบกับรูปพรรณสัณฐานของดวงหน้าที่มีความเฉพาะ ทำให้อดเดาไม่ได้ว่า ช่างมีน้ำเสียงใกล้เคียงกับชาวม้งในเมืองไทยที่เราได้มีโอกาสพบเห็น เมื่อถามพวกนางว่าเป็นชาวอะไร ได้รับคำตอบว่า “เราเป็นลาวสูง บ้านอยู่อุดมไทร” ม้งเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทางการลาวใช้คำเรียกรวมๆ ว่า 'ลาวสูง' เช่นเดียวกับชาว 'อาข่า' และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง หญิงชาวม้งทั้งสามเดินทางข้ามพรมแดนไปค้าขายถึงเมืองเดียนเบียนฟูในเวียดนาม และดูเหมือนเรื่องราวยิ่งน่าสนุกยิ่งขึ้น เมื่อหญิงผู้อ่อนวัยในกลุ่มบอกเล่าถึงเส้นทางการค้าที่ยาวไกลออกไป ไม่เฉพาะลาวและเวียดนามเท่านั้น แต่เลยมาถึงประเทศไทย ในรอบหนึ่งเดือน นางจะเดินทางไปยังอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยนั่งรถจากเมืองอุดมไทร-บ้านที่พำนักอยู่ไปลงรถที่ปากแบง และจากนั้นจึงต่อเรือเร็ว เพื่อเดินทางไปซื้อ ‘เครื่องนุ่ง’ ทั้งหลายจากตลาดนัดในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ตลาดนัดประจำเมืองเชียงของ จะมีในทุกวันศุกร์ และเครื่องนุ่งจากไทยจะถูกนำกลับไปยังบ้านของนางที่เมืองอุดมไทร เมื่อหยุดพักทำกิจธุระต่างๆ ที่บ้านในเมืองอุดมไทรแล้ว จากนั้นนางและแม่ และสมาชิกร่วมทาง จึงออกเดินทางพร้อมสินค้าที่ส่วนใหญ่เป็นเครื่องนุ่งของไทย เดินทางจากอุดมไทรมายังเมืองขวาในแขวงพงสาลี ระยะทางราว 100 กิโลเมตร เมืองขวา จะเป็นจุดที่รอรถโดยสารสำหรับเดินทางไปยังเวียดนาม เพื่อนำเครื่องนุ่งของไทยไปค้าขายยังเมืองเดียนเบียนฟู ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีกกว่า 100 กิโลเมตร แม่ค้าชาวม้งเล่าว่า ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ชายแดนเวียดนาม อนุญาตให้คนลาวเข้าไปพำนักอยู่ราว 7 วัน ขณะที่การเดินทางข้ามพรมแดนมาฝั่งไทย เป็นการเดินทางด้วยเส้นทางที่พวกเขาคุ้นเคย มากกว่าเป็นการข้ามพรมแดนตามจุดกำหนดควบคุมการเดินทางเข้าออกของผู้คนที่รัฐชาติไทยกำหนดไว้ แต่กระนั้นการมาซื้อเครื่องนุ่งในฝั่งไทย มักเป็นการเดินทางมาแบบเช้าเย็นกลับมากกว่ามานอนค้างคืน ช่วงเวลาที่คนแปลกหน้ากับหญิงชาวม้งทั้งสามได้มีโอกาสรู้จักกัน ณ โรงเตี๊ยมในเมืองใหม่ คือเส้นทางขากลับหลังจากที่พวกนางนำเครื่องนุ่งจากไทยไปค้าในเวียดนามนั่นเอง คำถามซอกแซกผุดขึ้นในใจ เมื่อแลเห็นนางทั้งสาม ทยอยแบกกระสอบใบโตขนาด 2 เท่าของตัวขึ้นหลัง เดินจากโรงเตี๊ยมไปวางในรถโดยสาร 6 ล้อ นางสามคนมีกระสอบถึง 4 ใบ แต่ละใบอัดแน่นไปด้วยสิ่งของ ในฐานะคนแปลกหน้าต่อกัน การรุกรานด้วยคำถามจึงถูกชะลอลงไปบ้าง รอให้โอกาสมาถึง คงได้ไขปริศนาที่คาใจ การเดินทางโดยรถประจำทาง ทำให้ได้มีโอกาสสัมผัสผู้คนและกิจกรรมในระดับชีวิตประจำวันของพวกเขาอย่างแท้จริง หญิงม้งผู้เป็นแม่ซื้อไก่เป็นๆ ซึ่งยืนนิ่ง งงงวย อยู่ในตะกร้าสานหยาบๆ จำนวน 6 ตัว “ซื้อกลับไปเลี้ยงที่บ้าน” นางอธิบายเพิ่มเติมหลังจากยื่นตะกร้าไก่ส่งให้คนขับรถนำไปวางไว้บนหลังคารถโดยสาร ขณะที่บริเวณหลังรถยังมีหมูน้อยนอนทำตาอ้อยสร้อยในตะกร้าแบบเดียวกันอีกหนึ่งตัว สงสัยยังไม่ทันไร เจ้าของหมูก็มาแสดงตัว เธอเป็นหญิงชาวเมืองใหม่มาส่งลูกสาวอายุ 14 ปี ขึ้นรถโดยสารไปเรียนหนังสือที่เมืองขวา เด็กสาวไปพำนักกับญาติพี่น้องต่างเมือง ผู้เป็นแม่จึงนำข้าวสารหนึ่งกระสอบพร้อมหมูน้อยหนึ่งตัวให้ลูกสาวติดตัวไป เมื่อแม่หมูอายุ 1 ปี จะเกิดลูกหมูอีกหลายตัว และลูกหมูสามารถแปรเปลี่ยนเป็นเงินเพื่อมาร่วมแบ่งเบาภาระค่ากินอยู่ของญาติพี่น้องตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ระหว่างที่ลูกสาวไปพำนักด้วย ช่างน่าตื่นเต้นกับรายละเอียดของวิธีคิดที่รอบด้านและถ้อยทีถ้อยอาศัยในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เรื่องราวเช่นนี้อาจดูแปลกใหม่สำหรับชาวเมือง แต่สำหรับแม่หญิงชาวม้ง นางหันมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ชาวม้งก็ทำแบบเดียวกันนี้ยามเมื่อส่งลูกหลานไปอยู่กับญาติพี่น้องต่างเมือง ใกล้เวลา 9 นาฬิกาเศษ ผู้โดยสารส่วนใหญ่ขึ้นไปนั่งบนรถเตรียมตัวเดินทาง หญิงชาวม้งผู้เป็นแม่ บิดกล้วยน้ำว้ายื่นให้คนแปลกหน้าหนึ่งผล ไม่เพียงเท่านั้น นางยังบิดกล้วยออกจากหวีแจกเพื่อนร่วมทางที่นั่งข้างๆ อีก 4-5 คน พร้อมส่งรอยยิ้มแลเห็นฟันทองคำงามอร่าม นับเป็นการแสดงน้ำใจที่น่ารักยิ่ง รถโดยสาร 6 ล้อ บนเส้นทางลูกรัง แม้ปลายทางจะอยู่ห่างไปเพียงแค่ 42 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ระยะเวลาบนรถกลับยาวนานยิ่ง นักเดินทางผู้มีประสบการณ์ในประเทศลาวเปรยให้ฟังว่า คำถามสำคัญที่ยากจะได้รับคำตอบในการเดินทางในประเทศนี้คือ "กี่โมงจะถึง?" เป็นคำถามที่มีโอกาสได้คำตอบชัดเจนแน่นอนได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลา หรือเรื่องอายุ ดังเช่นที่คนต่างถิ่นคนหนึ่งถามถึงอายุของหญิงชาวม้งผู้เป็นแม่ นางตอบทันทีพร้อมรอยยิ้มว่า “ไม่รู้ 60 หรือ 70 ปีมั้ง” ฉันอดขำไม่ได้เมื่อชายชาวลาวคนหนึ่งที่เป็นคนแปลกหน้าไม่ต่างอะไรกับผู้ถามสวนขึ้นมาทันทีว่า "ไม่ถึงหรอก คงอายุ 50 กว่า” ความชัดเจน แน่นอนในเรื่องอายุ เวลา หรือในอีกหลายเรื่อง อาจเป็นเรื่องสำคัญสำหรับวิถีชีวิตของผู้คนกลุ่มหนึ่ง แต่สำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่ง เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้สลักสำคัญมากนัก แล้วสิ่งที่ไม่แน่นอนก็เกิดขึ้นให้ประจักษ์ตรงหน้า เมื่อรถโดยสาร 6 ล้อ ทำท่าไม่สามารถขยับไปได้เสียเฉยๆ หลังจากมีเสียงเครื่องยนต์ครืดคราดอยู่สองหน เหลือระยะทางอีกไม่ไกลนักใกล้จะถึงจุดหมายปลายทาง แม้จะไม่ไกลแต่ก็ไกลเกินกว่าจะแบกสัมภาระของผู้โดยสารแต่ละคนเดินทางต่อไป ไม่มีเสียงบ่นใดๆ จากผู้โดยสารในรถแม้แต่คนเดียว ทุกคนปฏิบัติตนราวกับเป็นความปกติอื่น ๆ ของชีวิต เมื่อรถจอดดับเครื่องยนต์นิ่งสนิท คนขับรถและชายหนุ่มบางคนช่วยกันยกหัวรถด้านหน้าขึ้น และก้มลงไปซ่อมเครื่องใต้ท้องรถ “จะซ่อมได้ไหม และถ้าซ่อมได้นานแค่ไหนกว่าจะเสร็จ ?, มีรถโดยสารคันอื่นผ่านมาหรือเปล่า ฯลฯ” ไม่มีใครทำท่ากระตือรือร้นจะสืบค้นหาคำตอบใดๆ ทั้งสิ้น ดูราวกับว่าหากใครเผลอถาม ช่างเป็นการแสดงความฉลาดน้อยสิ้นดี เราทุกคนต่างต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ และเรียนรู้คุณค่าแห่งการรอคอยระหว่างที่รถโดยสารกำลังได้รับการซ่อมแซม แม่ค้าชาวม้งนางหนึ่งเปิดกระสอบและหยิบเครื่องนุ่งหลายชิ้นที่ยังไม่แห้งสนิทออกมาตากที่รั้วไม้ริมถนน ผู้โดยสารรายอื่นๆ เปลี่ยนอิริยาบถจากท่านั่งบนเบาะเป็นการลงไปนั่งบนกระสอบที่วางอยู่ในรถ ทำให้ได้เอนหลังสบายกายขึ้นและสนทนาจิปาถะกับเพื่อนร่วมทางรายอื่นๆ ผู้โดยสารจากเมืองไทยเริ่มหาโอกาสพูดคุยกับหญิงชาวม้งผู้เป็นแม่อีกครั้ง เป็นคำถามเดิมที่คาใจ ‘สินค้าชนิดใดหนอที่พวกนางนำกลับมาจากเวียดนาม’ “อะไรอยู่ในกระสอบใบโตเหล่านี้” และแล้วใครคนหนึ่งก็ช่วยคลี่คลายด้วยการชิงถามประโยคนี้ขึ้น หญิงม้งผู้เป็นแม่อาจรู้สึกว่า ยากเกินกว่าที่จะตอบกระมัง นางจึงจัดการแกะเชือกที่พันกระสอบออกทีละปม ทีละปม เมื่อกระสอบถูกเปิดออกเผยให้เห็นสิ่งของที่อยู่ด้านใน ในกระสอบอัดแน่นไปด้วยผ้าปักหลากสีนับไม่ถ้วน ชาวม้งเรียกผ้าปักเหล่านี้ว่า 'บั๋นเด๋า' ‘บั๋น’ หมายถึง ดอกไม้ ‘เด๋า’ หมายถึง ผ้า ภายในกระสอบมีบั๋นเด๋าที่ใช้สำหรับพันเอวจำนวนมาก บางชิ้นดูเก่าเหลือหลาย บางชิ้นยังดูใหม่เอี่ยม แต่ละผืนสีสันหลากตา ผ้าพันเอวเหล่านี้ถูกพันด้วยผ้าเป็นมัดๆ ละ 10 ผืน มีหลายสิบมัด ด้านล่างของกระสอบยังมีกระโปรงม้งอัดพลีทรอบตัว นักเดินทางที่เป็นเหล่าปีศาจผ้าตาลุกวาว การชอปปิงบนรถโดยสารระหว่างรอการซ่อมแซมรถจึงเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ นับเป็นการฆ่าเวลาได้เป็นอย่างดี ระหว่างนั้นใครบางคนรำพึงอย่างเดียงสาว่า “โถ..ม้งหลายร้อยคนคงต้องสูญเสียผ้าพันเอวมาอยู่กระสอบฟางใบนี้เอง” ชาวม้งแต่ละคนจะมีผ้าพันเอวคนละหลายผืน แม่หญิงชาวม้งไขข้อกังขา ผ้าพันเอวตลอดจนผ้าเก่าของชาวม้งที่เวียดนาม คือสินค้าที่แม่ค้าชาวม้งจากลาวไปรับซื้อจากเครือข่ายพี่น้องม้งในเวียดนาม เพื่อนำมาส่งขายต่อให้กับชาวม้งที่ทำงานหัตถกรรมในเมืองหลวงพระบางและฝั่งไทย การซื้อขายผ้าปักของชาวม้ง กระทำผ่านการนำเครื่องนุ่งจากไทยไปแลก แม่หญิงชาวม้งเล่าว่า เสื้อผ้าที่พวกนางเดินทางไปซื้อที่ตลาดนัดอำเภอเชียงของจะถูกนำมาแลกกับผ้าปัก ผ้าพันเอว ตลอดจนเสื้อผ้าเก่าของชาวม้งในเวียดนาม ผ้าเก่าของม้งที่บรรจุในกระสอบจะถูกนำไปแยก หากผืนใดที่เปรอะเปื้อนเพราะผ่านการใช้งานมาอย่างหนัก จะได้รับการทำความสะอาด ก่อนส่งต่อไปยังชาวลาวสูงหรือชาวม้งยังเมืองหลวงพระบาง และถ้าหากมีเหลือหรือมีออเดอร์จากม้งในฝั่งไทย ผ้าเก่าเหล่านี้ก็จะถูกนำไปส่งยังชาวม้งในฝั่งไทยเช่นกัน ใครที่เคยมีโอกาสไปเมืองหลวงพระบาง คงจะได้เห็นเครื่องนุ่ง กระเป๋าและสิ่งของอีกหลายชนิดที่เป็นฝีมือชาวม้ง วัตถุดิบที่เป็นผ้าปักชาวม้งจำนวนไม่น้อยเหล่านี้เดินทางมาไกลจากเวียดนามทีเดียว แม้การชอปปิงของเหล่าปีศาจผ้าจะกินเวลานานเกือบชั่วโมงกว่าจะสิ้นสุดลง โดยแม่หญิงชาวม้งมอบของที่ระลึกเป็นผ้าปักชิ้นเล็กให้แก่เพื่อนร่วมทาง แต่รถ 6 ล้อคันโตก็ยังไม่มีวี่แววจะซ่อมเสร็จ หลังการค้าขายบนรถโดยสาร แม่ค้าชาวม้งคว้าผ้าปักผืนเล็กพร้อมเข็มและด้ายไปหามุมสงบของตนและตั้งหน้าตั้งตาปักผ้าตรงหน้าต่อไป อิริยาบถเช่นนี้สามารถพบเห็นเป็นประจำจากหญิงชาวม้งในพื้นที่ต่างๆ ช่างเป็นการใช้เวลาในการรอคอยอย่างคุ้มค่ายิ่ง อีกราว 2 ชั่วโมง รถโดยสารคันโตจากเดียนเบียนฟูวิ่งผ่านไป ทั้งผู้โดยสารและสัมภาระอัดแน่นเกินกว่าจะมีที่เหลือสำหรับผู้โดยสารอื่นใดอีก หญิงชาวม้งหันมาบอกว่า ยังมีกระสอบผ้าของนางอยู่บนรถคันนั้น เพราะเกินกำลังกว่าจะแบกมาด้วยตนเองได้ นางจึงต้องเดินทางไปให้ถึงเมืองขวาเพื่อรอรับสัมภาระดังกล่าว ในที่สุด การรอคอยได้สิ้นสุดลง เมื่อชายฉกรรจ์ปิดหัวรถ 6 ล้อลงให้อยู่กับที่กับทางดังเดิม เสียงสตาร์ทรถดังขึ้นอีกครั้ง การเดินทางจึงดำเนินต่อไป ใช้เวลาอีกไม่นานนัก เราทุกคนต่างมาถึงเป้าหมายโดยสวัสดิภาพ ณ จุดปลายทาง ทุกฝ่ายต่างเร่งรีบชดเชยเวลาที่สูญเสียเพื่อมุ่งหน้าไปยังเป้าหมายถัดไป โอกาสล่ำลากันแทบไม่มี เหลือไว้แต่ความทรงจำและคำถามที่ค้างคาใจรอวันได้ไขปริศนาอีกมากมาย. กรุงเทพธุรกิจ 12 พฤษภาคม 2548 ที่มา : โสภิดา วีรกุลเทวัญ
http://www.statelessperson.com/www/?q=node/429

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น